นายกฤษชนะ นิสสะ หัวหน้าโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ กรมป่าไม้ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยการ เพาะเห็ดระโงกมีจุดเริ่มต้นในปี 2550 เมื่อโครงการฯ ได้ปลูกไม้ยางนาขึ้นในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาในปี 2552 ได้นำดอกเห็ดระโงก ที่พบได้ทั่วไปในภาคอีสานและเป็นที่นิยมนำมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย โดยใช้วิธีการนำมาบดขยี้ในน้ำแล้วนำไปรดที่บริเวณรากไม้ยางนาในพื้นที่ ภายหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา ก็เริ่มพบทั้ง เห็ดระโงกขาว ,ระโงกเหลือง และระโงกแดง เกิดขึ้นทำให้ในช่วงปีถัดมา ทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นแปลงสาธิตสร้างองค์ความรู้เผยแพร่แก่เกษตรกร และได้แบ่งเป็นแปลงย่อย บันทึกข้อมูลปริมาณผลผลิตของเห็ดระโงก ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พร้อมทั้งยังได้ทดลองชักนำให้เห็ดระโงกออกดอกนอกฤดูกาล โดยการให้น้ำในแปลง ย่อยที่เคยมีดอกเห็ดเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ พบว่าสามารถทำให้เห็ดระโงกออกดอกก่อนฤดูกาลได้ 1-2 เดือน ประกอบกับราคาของเห็ดระโงกในฤดูกาลอยู่ที่ กก. ละ 200-300 บาท นอกฤดูกาลนั้นมีราคาสูงขึ้นถึง 400-500 บาท ต่อ กก. ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเห็ดได้มากกว่า6กก.สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า12,000บาทต่อเดือน
"สำหรับ การใส่หัวเชื้อราเห็ดระโงก ได้มีการใส่หัวเชื้อให้กับกล้าไม้ตั้งแต่กล้าอยู่ในถุงเพาะชำโดยการรดบริเวณ โคนต้น เมื่อนำรากของต้นไม้มาตรวจจะพบลักษณะปลายรากหาอาหารของต้นไม้วงศ์ยางมี ลักษณะบวมพอง แตกกิ่งก้านมากมาย และพบเส้นใยราปกคลุมอยู่ชัดเจน จึงสันนิษฐานได้ว่าเห็ดระโงกมีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางแบบพึ่งพาอาศัยซึ่ง กันและกัน แตกต่างจากเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ที่เป็นราย่อยสลาย เห็ดพวกนี้จะย่อยเซลลูโลสเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ขั้นตอนการเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ดระโงก ด้วยการนำเห็ดแก่จัดมาขยี้กับน้ำ นำน้ำสปอร์ที่ได้มาหยอดในกล้าไม้ขนาดเล็กหรือไม้วงศ์ยางที่มีอยู่ในแปลง เมื่อมีฝนตกลงมาเห็ดระโงกก็จะงอกขึ้นในพื้นที่ระหว่างแปลงของต้นยางนา ทั้งนี้ ขอให้สังเกตและควรระวังการเก็บเห็ดนำมาประกอบอาหารเพื่อรับประทานเพราะเห็ด บางชนิดเมื่อนำมารับประทานอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ อย่างเห็ดระงากหรือเห็ดระโงกหิน ซึ่งเห็ดชนิดนี้มีถูกจัดอยู่ในความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวที่สามารถกินได้ แต่มีจุดที่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง จุดที่สังเกตยากและอันตรายมาก คือ ช่วงเห็ดออกดอกอ่อน เพราะเห็ดสกุลนี้ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนจะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากเห็ดที่มีพิษจะมีสารที่ทนต่อความร้อนเมื่อนำไปประกอบอาหารพิษก็ยัง จะคงอยู่และเป็นอันตรายถึงชีวิต" หัวหน้าโครงการฯ กล่าวปิดท้าย
ผู้ ที่สนใจเข้าร่วมอบรมโครงการการเพาะเห็ดระโงก สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานพัฒนาด้านป่าไม้ ได้ที่www.rdpb.go.th หรือโทรสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-447-8500-6