เชียงใหม่, ประเทศไทย, กรกฎาคม พ.ศ. 2559 – สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน เดินหน้าสานต่อกิจกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไอพีดีแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงทั่วทุกภูมิภาค ผ่านทางโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อรณรงค์สัปดาห์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโลก (World Immunization Week 2016) แก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อในเด็กทั่วทุกภูมิภาค โดยในเดือนกรกฎาคมนี้เดินหน้าขึ้นเหนือร่วมกับสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และการป้องกันโรค ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมั่นการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค
โดยโครงการนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลกประจำปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน และปีนี้ได้มีการส่งเสริมเรื่องการลดช่องว่างการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ "Close the Immunization Gap" เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่บุคคลทั่วไป ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคด้วยวัคซีน และรณรงค์ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการปกป้องจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน[1] ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐฯ (CDC) แสดงให้เห็นว่าการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนป้องกันโรคได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นลดการเกิดโรคคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก, หัด, หัดเยอรมัน,คางทูม, ไวรัสตับอักเสบเอ, ไวรัสตับอักเสบบี, อีสุกอีใส รวมทั้งโรคไอพีดี[2] เป็นต้น
กิจกรรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน "ป้องกันดีกว่าการรักษา" นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แล้ว ยังมีการมอบวัคซีนป้องกันโรค ไอพีดีให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นโรงเรียนแพทย์ใหญ่ที่สุดในการรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในภูมิภาคนี้ และยังสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงโรคไอพีดีได้เป็นจำนวนมาก อาทิ เด็กในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ, ผู้ป่วยโรคเลือด, ผู้ป่วยโรคหอบหืด เป็นต้น
รองศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ปีที่แล้ว ทางสมาคมฯได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันไอพีดีเพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยงจำนวน 500 โด๊สแก่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งมีเด็กในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วมากกว่าหลายร้อยคน ในปีนี้เราได้เพิ่มจำนวนการส่งมอบเป็น 5,000 โด๊ส เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันได้เพิ่มขึ้นและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย"
ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคและลดการเสียชีวิตจากโรคนี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งมอบวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลที่เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไอพีดีและยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ได้ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพเด็กเล็กให้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมไทย
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและอดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า "เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการกระจายการส่งมอบวัคซีนให้เข้าถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงได้มากที่สุด เราจึงได้ร่วมมือกับสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เพื่อจัดกิจกรรมให้ความรู้ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการป้องกันโรค ให้แก่ผู้ปกครอง เด็ก และบุคคลทั่วไปได้รับประโยชน์"
รศ.พญ.ดร. เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ แพทย์หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ทางเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ในการส่งมอบวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงในภาคเหนือ รวมถึงการจัดกิจกรรมดีๆในการมอบความรู้ความเข้าใจถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และการป้องกันโรคให้แก่เด็กๆและผู้ปกครองที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นี้ ในฐานะที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในภูมิภาคนี้และมีแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อในเด็กที่สามารถช่วยกันคัดกรองความต้องการวัคซีนของเด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ เราจะนำวัคซีนที่ได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ในภูมิภาค"
ทั้งสององค์กรได้ให้ความสำคัญในการส่งมอบวัคซีนให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ทางบ้านมีรายได้ครัวเรือนต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงและยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีมาก่อน เด็กกลุ่มเสี่ยงตามตารางการให้วัคซีนในเด็กซึ่งแนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และเบาหวาน อีกด้วย