ธุรกิจอาหาร ธุรกิจแห่งอนาคต : ปัจจุบันประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอันดับต้นๆ ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาด 6.3% จากทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียรองจาก ประเทศจีน และจากการวิเคราะห์การค้าอาหารทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 32,960 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกสินค้าอาหารช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ มีมูลค่า 4,093 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยอาหารส่งออกที่น่าสนใจและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ อาหารกลุ่ม ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูปมีมูลค่าการส่งออก 962 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 14.3%
อินโดนีเซีย โอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรสูงถึง 253.7 ล้านคน จัดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยราว 6% ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตและกลายเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2020 หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตมากในอินโดนีเซีย คือ ธุรกิจอาหาร โดยในช่วงปี 2558 - 2561 คาดว่าประชากรจะมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อคนเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 8.2% เนื่องจากมีการขยายการลงทุนของภาครัฐ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีการนำเข้าสินค้าหมวดอาหารคิดเป็นมูลค่ามากถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากกำลังการผลิตและวัตถุดิบในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะนำไปผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น?โคคา-โคล่า เป็บซี่ และดานอน ที่กำลังมีอิทธิพลในธุรกิจอาหารของอินโดนีเซียในตอนนี้ อินโดนีเซียจึงกลายประเทศที่น่าจับตามองและเป็นอีกโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในการลงทุน