นวัตกรรมการผลิตพอลิเมอร์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

พุธ ๒๗ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๔๓
ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมฯ ได้จัดการบรรยายพิเศษเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตทางปิโตรเคมีใหม่ที่สามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นวัตถุดิบแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการผลิตวัสดุพอลิเมอร์ประเภทโพลิยูเรเทน ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า ที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัยของบริษัท โคเวสโตร ร่วมกับรัฐบาลเยอรมัน ซึ่ง ดร. คริสเตียน ฮัสเลอร์ (Dr. Christian Haessler) หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท โคเวสโตร จำกัด ได้กล่าวในการบรรยายว่า "บริษัท โคเวสโตร ได้ประสบความสำเร็จสามารถคิดค้นกระบวนการผลิตพลาสติกที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบทดแทนน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม ด้วยการเปิดโรงงานแห่งแรกที่เมืองดอร์มาเกนใกล้กับเมืองโคโลญจน์ เยอรมนี เพื่อผลิตโพลียูรีเทนโดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนน้ำมันได้มากถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้ ความสำเร็จของโรงงานดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการลดภาวะโลกร้อนด้วยการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโดยตรงแทนการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ" ซึ่ง ดร. ฮัสเลอร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามักฝันเสมอว่า สักวันหนึ่งเราจะสามารถนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบได้ และวันนี้ความฝันของพวกเราเป็นความจริงแล้ว กระบวนการผลิตและศูนย์การผลิตที่เมืองดอร์มาเกนที่เพิ่งเปิดใหม่นี้ ทำให้เราเป็นผู้บุกเบิกกระบวนการผลิตดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ 'จะสร้างสรรค์เพื่อโลกที่สดใส'"

ดร. สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในการบรรยายได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าวต่อแนวทางการพัฒนาประเทศว่า "เป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังผลักดันเพื่อยกระดับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในรูปแบบใหม่ (new S-curve) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ในการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ ให้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตยุค Thailand 4.0 ที่มีรายได้ต่อประชากรในระดับเดียวกับของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำแนวทางดังกล่าวเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) แบบซุปเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อปรับฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) จากการผลิตสินค้าทั่วไป (Commodity) สู่การผลิตวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ (advanced materials) และการเพิ่มมูลค่าแทนการเพิ่มปริมาณ โดยพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ยืนบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ตามแนวทางการสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนดังกล่าว ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษีมากกว่าเกณฑ์ปกติ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐอย่าง บูรณาการ (One-Stop-Service) ในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนวิจัยพัฒนา และความสะดวกในการได้รับการอนุมัติ/อนุญาตต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ดร. สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า "ประเทศไทยยินดีต้อนรับและพร้อมให้การส่งเสริมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตที่เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ดังเช่นกระบวนการผลิตในฝันที่เป็นความจริงของบริษัท โคเวสโตร นี้เสมอ"

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมฯ กล่าวในตอนท้ายว่า "การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ "อนาคตโลกที่สัมผัสได้ด้านพลังงาน – ยานยนต์ – วัสดุ – สังคม" หรือ "The Smart Future in Energy – Transport – Materials –Society: A Far Away Reality?" ที่จัดขึ้นเพื่อฉลองการครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยเป็นการเสนอมุมมองทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการผลิต ต่อเนื่องจากการบรรยายของ Mr. Tony Seba ในหัวข้อเรื่อง "Clean Disruption: Why Current Energy and Transport System Will Be Obsolete by 2030" ที่สถาบันปิโตรเลียมฯ ได้จัดการบรรยายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 เพื่อที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต โดยการสร้างความตระหนักและการรับรู้เกี่ยวกับอนาคตด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม และเพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมของสังคมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการวางรากฐานอนาคตของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพทันการ" ทั้งนี้ สถาบันปิโตรเลียมฯ จะจัดการบรรยายพิเศษครั้งต่อไปในเรื่อง "A New Deal: Regulatory Framework for a Competitive & Innovative Energy Market That Works in the Interest of the Consumers" ซึ่งจะเป็นการนำเสนอโดย DI Walter Boltz, Former Executive Director, Energie Control Austria (E-Control) เกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการกำกับกิจการพลังงานของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่จะนำไปสู่สังคมโลกยุคใหม่ ที่ผู้บริโภคสามารถบริหารจัดการด้านพลังงานของตน ทั้งในเรื่องการผลิต การจัดหา การใช้ และการจำหน่าย ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายจะจัดในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 ณ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ