เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 เงินกองทุนของสถาบันการเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดสรรกำไร ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.50 เทียบกับสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17.43 ด้านสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio : LCR) อยู่ที่ร้อยละ 172.69 สูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 60 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในแต่ละปี จนครบร้อยละ 100 ในปี 2563 ขณะที่เงินฝากและสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ในไตรมาสที่ 1 เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.55 และ 3.86 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก
กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 มีจำนวน 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น จากสิ้นไตรมาส 1/2559 จำนวน 1,386.05 ล้านบาท ทั้งนี้ สถาบันได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี ความมั่นคงสูงตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกัน เป็นต้น เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องรวมทั้งได้รับผลตอบแทนที่ดี
การดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559
สถาบันได้เร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) เพื่อให้บรรลุพันธกิจของสถาบันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มีการดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. การแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 26 เมษายน2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน โดยยกเลิกการกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นขอรับเงิน ภายหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้เป็นหน้าที่ของสถาบันที่จะต้องจ่ายคืนเงินฝากแก่ ผู้ฝากเงินตามวงเงินคุ้มครองที่กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฝากเงินให้ได้รับเงินคืนเร็วยิ่งขึ้น ขณะนี้ร่างกฎหมายที่ขอแก้ไขอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. การเร่งรัดการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก เพื่อให้รองรับพันธกิจการจ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝาก ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายคืนเงินฝากมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พร้อมทั้งมีการออกแบบให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย
3. การสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับจากระบบการคุ้มครองเงินฝาก โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสัมมนา จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน รวมจำนวน 14 ครั้ง และมีผลการประเมินความรู้ความเข้าใจของ ผู้ร่วมกิจกรรมในระดับดีขึ้นไปเฉลี่ยร้อยละ 91.50
4. การเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2559 สถาบันได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันประกันเงินฝากประเทศเกาหลีใต้ และต่ออายุ MOU กับกองทุนปกป้องผู้ฝากเงินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจุบันสถาบันมีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับสถาบันประกันเงินฝาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
5. การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล โดยมีการศึกษาและเสนอปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก รวมถึงการสร้างกลไกและความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้โครงข่ายความมั่นคงทางการเงิน ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สถาบันจะดำเนินการตามแผนงานที่เหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมดำเนินงานตามพันธกิจที่กฎหมายกำหนดต่อไป
การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก
"พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2559" ได้ออกประกาศแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เนื่องจากภาครัฐเห็นว่าการขยายเวลาจะมีข้อดีสำหรับประชาชนผู้ฝากเงินได้มีเวลาปรับตัว และวางแผนทางการเงินเพิ่มขึ้น มีเวลาพิจารณาผลิตภัณฑ์การเงินที่จะมาทดแทนเงินฝากที่เหมาะสมกับตน และมีเวลาที่สถาบันจะเพิ่มและขยายความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2559 นี้ วงเงินคุ้มครองเงินฝาก จะอยู่ที่จำนวน 15 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งจะครอบคลุมผู้ฝากที่มีเงินฝากภายในวงเงินคุ้มครองสูงถึงร้อยละ 99.90 ของผู้ฝากทั้งระบบ และจะค่อย ๆ ทยอยปรับจำนวนเงินคุ้มครองไปที่ 10 ล้านบาท 5 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงินโดยวงเงิน 1 ล้านบาทจะเริ่มใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะครอบคลุมผู้ฝากที่มีเงินฝากภายในวงเงินคุ้มครองถึงจำนวนร้อยละ 98.18 ของผู้ฝากทั้งระบบ
วงเงินการคุ้มครองเงินฝาก
ระยะเวลา กำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก
ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2559 ถึง 10 ส.ค. 2561 จำนวน 15 ล้านบาท
ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2561 ถึง 10 ส.ค. 2562 จำนวน 10 ล้านบาท
ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2562 ถึง 10 ส.ค. 2563 จำนวน 5 ล้านบาท
ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป จำนวน 1 ล้านบาท
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ได้ทางศูนย์บริการข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก โทร.1158 และศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.dpa.or.th