ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (เท่ อินเด็กซ์) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ประจำไตรมาส 3 เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ณ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าในภาพรวม ประชาชนให้คะแนนภาครัฐร้อยละ 58.9 ขยับขึ้นร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนที่ได้คะแนนร้อยละ 57.7 ซึ่งต่ำกว่าความคาดหวังของประชาชนถึงกว่าร้อยละ 14 (ประชาชนคาดหวังผลงานของภาครัฐในระดับคะแนนร้อยละ 72.6)
ผลการประเมินประสิทธิผลภาครัฐ พบว่า ปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุด อันดับหนึ่ง คือ การเข้าถึงบริการภาครัฐ ได้คะแนนร้อยละ 64.2 ต่ำกว่าค่าคาดหวังของประชาชนอยู่ร้อยละ 8.4 โดยหน่วยงานภาครัฐที่ประชาชนนึกถึง 5 อันดับแรก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล โรงพยาบาล สถานีอนามัย และที่ว่าการอำเภอ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเข้าถึงบริการพื้นฐานที่รัฐจัดให้ในระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง ได้แก่ การสร้างพันธมิตรและการบูรณาการ ได้ร้อยละ 62.4 และอันดับสาม ความรับผิดชอบ ได้คะแนนร้อยละ 60.8
ในส่วนของปัจจัยที่ได้คะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ การปลอดคอร์รัปชั่น ได้คะแนนเพียงร้อยละ 53.8 ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนอาจมองว่า ภาครัฐยังไม่มีผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ยังไม่มีการจับคนผิดมารับโทษได้ ส่วนปัจจัยที่ได้คะแนนต่ำเป็นอันดับสอง ได้แก่ ความโปร่งใส ได้ร้อยละ 56.6 ส่วนคะแนนต่ำอันดับสาม ได้แก่ การกำกับดูแล ได้ร้อยละ 57
ผลของดัชนีเมื่อเทียบกับไตรมาสสอง พบว่า ความรับผิดชอบเป็นปัจจัยที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 มากที่สุด โดยมีผลต่างคะแนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 อาจเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง รองลงมาเป็นเรื่อง ประสิทธิภาพ เพิ่มร้อยละ 2.3 จากผลงานของรัฐบาลในช่วงทีผ่านมา และ การเข้าถึง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6
ส่วนคะแนนที่เพิ่มจากไตรมาสสองเพียงเล็กน้อย (ไม่เกินร้อยละ 0.9) ได้แก่ ปัจจัยด้านการกำกับดูแล ความโปร่งใส ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งภาครัฐควรกำกับดูแลกิจการของรัฐอย่างเข้มงวดและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืนมา และปัจจัยที่มีผลต่างคะแนนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 0.3 ได้แก่ การปลอดคอร์รัปชั่น เป็นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลแทบไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายด้านคอร์รัปชั่นในสายตาของประชาชน
จากผลเท่ อินเด็กซ์ ประสิทธิผลภาครัฐ ไตรมาส 3 นี้ เสนอว่า "การที่ภาครัฐได้คะแนนสูงในปัจจัยด้านการเข้าถึงและการสร้างพันธมิตรและบูรณาการ ภาครัฐควรส่งเสริมและเร่งความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นเพื่อดำเนินนโยบายได้ผลเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง และจากการเชื่อมั่นในความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น หน่วยงานภาครัฐควรรักษามาตรฐานในการทำงานด้วยความรับผิดชอบให้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์การทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ และทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
ในการสำรวจครั้งนี้ ได้มีการสอบถามเพิ่มเติมว่า เรื่องใดที่ต้องการให้ส่วนราชการปรับปรุงมากที่สุด ในครึ่งปีหลังของปี 2559 โดยด้านเศรษฐกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ การควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ การควบคุมราคาน้ำมัน การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การปรับอัตราการลดหย่อนภาษีให้ทันสมัย และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
สามารถดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2atAa4W