28 กรกฎาคม วันโรคตับอักเสบโลก กรมควบคุมโรค ห่วงปัญหาโรคตับอักเสบ เตรียมนำร่องระบบเฝ้าระวังแบบบูรณาการในปี 2559 นี้

ศุกร์ ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๕:๒๔
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันโรคตับอักเสบโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคตับอักเสบ สาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบบ่อยในไทย คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และ อี ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบที่ควรระมัดระวังมากที่สุด คือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี เนื่องจากผู้ติดเชื้อไวรัสตับสองชนิดนี้มีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ และอาจกลายเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ในอนาคต

สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นโรคที่พบบ่อยและมีความรุนแรง ปัจจุบันมีผู้เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลกประมาณ 240 ล้านคน ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้เป็นพาหะของโรคประมาณ 2-3 ล้านคน โดยพบมากขึ้นในกลุ่มประชากรที่อายุเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีเนื่องจากประเทศไทยมีระบบการให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่ดีมาก ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ทำให้คนที่เกิดหลังปี 2535 มีการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวต่ำลงกว่าในอดีตมาก เหลือเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันมีผู้เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทั่วโลกประมาณ 130-150 ล้านคน ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้เป็นพาหะของโรคประมาณ 4-5 แสนคน โดยพบมากแถบภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และพบความชุกสูงในผู้ที่มีประวัติใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นถึงร้อยละ 70-80 อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า ความชุกของการติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซี ทั้งนี้เนื่องจากระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีขึ้น และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการติดต่อของไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มร่วมกัน นอกจากนี้ในอดีตโรคไวรัสตับอักเสบบี ยังสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้มากอีกด้วย โดยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี จะมีอาการไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดจุกชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งพาหะไวรัสตับอักเสบ ถึงไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัสขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรวิชาชีพ และองค์กรอิสระหลายแห่ง เช่น สมาคมโรคตับ มูลนิธิโรคตับ สภากาชาดไทย สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีนโยบายการจัดการปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ 5 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังโรค 2.การป้องกันควบคุมโรค 3.การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่ทราบสถานะของตน 4.การเร่งรัดให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และ 5.การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ในการป้องกันควบคุมโรคในอนาคต ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ทบทวนระบบเฝ้าระวังโรคไวรัสตับอักเสบ และกำหนดกรอบแนวทางให้บูรณการร่วมกับการเฝ้าระวังโรคที่มีช่องทางการติดเชื้อคล้ายๆกัน เช่น โรคเอดส์ และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำร่องระบบการเฝ้าระวังในรูปแบบดังกล่าวได้ในปี 2559 นี้

ปัจจุบันโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี มียารักษาที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต ที่สำคัญยาดังกล่าวอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนสามารถรับการรักษาได้ฟรี นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี จำนวนหนึ่งไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ และมีโอกาสที่จะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต ดังนั้นการตรวจคัดกรองจะช่วยให้คนเหล่านี้ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง และเข้าสู่ระบบรักษา ต่อไป ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งสามารถตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้

ในการป้องกันโรคตับอักเสบ ดังนี้ 1.ลดละการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2.ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ 3.ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 4.ไม่สัก ฝังเข็ม หรือเจาะ เช่น เจาะหู ในร้านที่ไม่มีมาตรฐาน 5.หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน กรรไกตัดเล็บ 6.กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน 7.ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน และ 8.ถ่ายอุจจาระลงส้วม ที่มีระบบเก็บกักอุจจาระมิดชิด นอกจากนี้ ในการป้องกันควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากเลือดและองค์ประกอบจากเลือด ว่าต้องได้รับการตรวจว่าปลอดภัยจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็ก โดยเฉพาะเด็กแรกคลอดและเด็กเล็ก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ดีเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี จึงได้มุ่งเน้นป้องกันในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น

นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า เนื่องด้วยในโอกาสพิเศษ วันตับอักเสบโลก ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข รวม 35 แห่ง ใน 16 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงใหม่2.อุตรดิตถ์ (2 แห่ง) 3.สุโขทัย (3 แห่ง) 4.เพชรบูรณ์ (3 แห่ง) 5.ตาก (2 แห่ง) 6.พิษณุโลก (2 แห่ง) 7.อุทัยธานี 8.สระบุรี (12 แห่ง) 9.ราชบุรี 10.ระยอง 11.มหาสารคาม 12.นครศรีธรรมราช 13.สงขลา 14.กทม.(2 แห่ง) 15.นนทบุรี และ16.สมุทรปราการ เพื่อจัดบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2559

หากประชาชนท่านใดที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 หรือเคยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ สามารถติดต่อสอบถามรายชื่อโรงพยาบาลในจังหวัดที่กล่าวมาข้างต้นที่เปิดให้คัดกรองฟรี ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๕๕ FTI รับ 2 รางวัล จากกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2567
๑๔:๕๕ OKMD ร่วมกับ CMDF จัดประกวดประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน หนุนไอเดียเด็กมัธยม ต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสังคม
๑๔:๓๐ แอลจีเผยเทรนด์ทำงานปี 2025 พร้อมเทคนิคใช้โน๊ตบุ๊กแบบสมาร์ทเวิร์กเกอร์
๑๔:๓๓ ทีเอ็มบีธนชาต สำรองธนบัตร 13,000 ล้านบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
๑๔:๒๒ เจียไต๋แมน เมื่อรุ่นเดอะผนึกกำลังกับรุ่นใหม่ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
๑๔:๒๙ สุขภาพดีแบบไม่ต้องเดี๋ยว! รพ.วิมุต ชวนตรวจสุขภาพ - ปรับพฤติกรรมสไตล์คนไม่มีเวลาสร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาวรับปีใหม่
๑๔:๕๐ HBA ส่องภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 68 เผชิญความท้าทายใหม่ เร่งงัดกลยุทธ์ฝ่าแข่งขันสูง รุกเจาะตลาดใหม่ 'รอจังหวะฟื้น'
๑๔:๕๒ ดิเอมเมอรัลด์ช่วยสนับสนุนงานกาชาด
๑๔:๓๑ เอพี ไทยแลนด์ รับ 3 รางวัลจาก Meta ตอกย้ำจุดยืน แบรนด์อสังหาฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และดาต้า
๑๔:๓๕ มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผย 10 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี