นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปากีสถานยังได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการประมงของไทย เนื่องจากปากีสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์ และมีความต้องการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปสินค้าประมง ขณะที่ไทยก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการประมง ทั้งในด้านเทคโนโลยีการจับและหลังจับสัตว์น้ำ เทคโนโลยีการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ ปากีสถานจึงมีความประสงค์ต้องการความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการโรงเพาะฟัก การขอรับพันธุ์ตัวอ่อนกุ้งก้ามกราม ตลอดจนระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำตลอดสายการผลิต โดยไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในด้านดังกล่าวกับปากีสถาน โดยในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานประมงของปากีสถานได้เคยมาศึกษาดูงานด้านการเพาะเลี้ยงปลาในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงของไทยก็ได้ไปให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและศึกษาพื้นที่ที่ปากีสถานด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศยังคืบหน้าเท่าที่ควร จึงได้ขอความร่วมมือให้ปากีสถานติดตามความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านต่างๆ กับไทย โดยเฉพาะการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำของปากีสถาน ซึ่งมีสาระสำคัญด้านความร่วมมือทางวิชาการในประเด็นการจัดการทรัพยากรประมงเพื่อความยั่งยืน การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมงผิดกฎหมาย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยได้มีความสนใจในนโยบายการเปิดให้ต่างชาติจับปลาในทะเลลึกโซน 3 (20-200 ไมล์ทะเล) ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone : EEZ) ของปากีสถาน โดยขอให้ปากีสถานให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในด้านดังกล่าว และขอให้มีมาตรการความปลอดภัยแก่เรือไทยและลูกเรือที่ได้รับใบอนุญาตจากปากีสถานให้เข้าไปจับปลา โดยปากีสถานได้รับทราบและจะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป
สำหรับการค้าระหว่างไทยและปากีสถานนั้น ปากีสถานเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 48 ของไทย ในระหว่างปี 2556 - 2558 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.24 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับทั่วโลก โดยสินค้าเกษตรส่งออกจากไทยไปปากีสถานที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เมล็ดพืชผักชนิดที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ข้าวโพดสำหรับทำพันธุ์ สับปะรดปรุงแต่ง สิ่งสกัดจากมอลต์ และอาหารปรุงแต่งอื่น ๆ