"โรคงูสวัดและสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน ที่ชื่อ "เชื้อวีแซดวี (varicella-zoster virus)" ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก (ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก) ส่วนใหญ่จะแสดงอาการของโรคสุกใส หลังจากหายจากโรคสุกใสไปแล้ว เชื้อจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทในร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสุกใสลดลง เชื้อที่แฝงตัวอยู่นี้จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและกระจายออกมาทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่น เป็นตุ่มน้ำ ขึ้นเป็นกระจุก และมีปลายประสาทอักเสบ"
วิธีการสังเกตอาการของโรคงูสวัด มีดังนี้
ก่อนมีผื่นขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหน่วง ๆ ปวดแปล๊บ ๆ คัน หรือเจ็บ ด้านหนึ่งด้านใดของร่างกาย บริเวณเส้นประสาทที่กำลังจะเป็นเป็นงูสวัด ช่วงนี้เป็นช่วงที่วินิจฉัยยาก เพราะหากพบบริเวณ แขนหรือขา เพียงข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวด ที่ชายโครง ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน หรือโรคทางสมองได้ ช่วงต่อมาเมื่อเชื้อออกมาถึงผิวหนัง จะมีผื่นขึ้นตรงบริเวณที่ปวด เป็นตุ่มใสเป็นกระจุก ตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่เชื้อออกมา เมื่อตุ่มน้ำแห้ง และตกสะเก็ด หลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาลง ส่วนผู้สูงอายุ อาจมีอาการปวดตามมานานหลายเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่บางรายหลังแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดประสาทนานเป็นแรมปี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้ และจากความเชื่อที่ว่า เป็นรอบเอวแล้วตายนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ที่เสียชีวิตอาจเป็นเพราะร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค การรู้จักรักษาร่างกายให้แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานโรคให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคและระงับความรุนแรงของโรคได้
ส่วนการรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวดหรือไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้กินยาต้านไวรัส ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จึงจะได้ผลในการลดความรุนแรง และย่นเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจลดอาการปวดเส้นประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ที่สำคัญคือผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา หน้าผาก หรือ ปลายจมูกควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะให้กินยาต้านไวรัส และยาหยอดตาที่มียาต้านไวรัส เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
ภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อยคือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (post herpetic neuralgia) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ70 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมาก ยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวดลึก ๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปล๊บๆ เสียว ๆ (คล้ายถูกไฟช็อต) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 จะหายเองภายใน 1 ปี) แต่ในบางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี ...... ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันงูสวัดได้แล้ว