"สตาร์ทอัพราชมงคลธัญบุรี มีแนวทางการดำเนินงาน 3 ระยะ ซึ่งครั้งนี้เป็นระยะแรกของโครงการที่มุ่งเน้นพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การบรรยายธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาถรพี ชัยมงคล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี รวมถึงการเขียนโมเดลสร้างธุรกิจ และการให้คำปรึกษาพิจารณาแผนธุรกิจเป็นรายบุคคล ระยะต่อไปจะเป็นการอบรมเชิงลึก และระยะที่ 3 จะเป็นการบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้จดทะเบียนธุรกิจต่อไป" อธิการบดี มทร.ธัญบุรีกล่าว
นพกฤษฎิ์ นิธิเลิศวิจิตร Life Coach พันล้าน เจ้าของหนังสือบ๋อยเงินร้อย สู่บอสเงินล้าน 1 ในวิทยากรที่พูดถึง'การสร้างแรงบันดาลใจ' ในครั้งนี้ มองว่าคุณสมบัติที่ผู้ประกอบใหม่ควรมี คือความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต พยายามเก็บเกี่ยวเรื่องราว ไอเดียต่าง ๆ มาเติมเต็มให้กับตัวเราและธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
"ทุกธุรกิจต้องเจอปัญหา ซึ่งจะแตกต่างกันไป เราต้องเอาชนะทุกปัญหาให้ได้ เพื่อให้ได้ไปต่อในทิศทางหรือเป้าหมายที่วางไว้ เพราะคนสำเร็จต้องเล่นทุกอย่างเต็ม 100 และก่อนที่จะเอามูลค่าหรือช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และจะต้องรู้ว่ามูลค่าที่เราจะส่งมอบให้กับลูกค้าคืออะไร แตกต่างจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมอย่างไร" นพกฤษฎิ์ กล่าว
ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ มะเหมี่ยว - สิริพร ภูแก้ว อายุ 33 ปี กำลังเริ่มทำธุรกิจการแปรรูปผักดองเปรี้ยว เล่าว่า ตนมีความรู้เกี่ยวกับการทำผักดองเปรี้ยวเป็นอย่างมากในระดับภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครอบครัวและคนรุ่นก่อน ผักดองเปรี้ยวเป็นเครื่องเคียงสำคัญในเมนูน้ำพริก ตนจึงอยากยกระดับคุณภาพผักดองเปรี้ยวให้มีคุณภาพ เน้นย้ำเรื่องสะอาด สามารถเก็บไว้ได้นานและเป็นอาหารที่ปลอดภัย เลยมาขอคำแนะจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตอาหารและรูปแบบการทำธุรกิจ
เช่นเดียวกับหญิงสาวผู้ขยันทำงาน เติ้ล - ภัสธร เส็งพานิช ทำธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ โดยออกแบบตัดเย็บเองและจ้างการผลิต เน้นไปที่ผ้าลินิน เจาะกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นตอนปลายเรื่อยไปจนถึงวัยทำงาน โดยเริ่มทำธุรกิจมาประมาณ 8 เดือน มียอดขายและกระแสตอบรับจากผู้บริโภคอยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างยอมรับได้ จึงอยากหาความรู้สำหรับการทำธุรกิจใหม่ ๆ เลยตั้งใจมาเข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพฯ เพราะว่าธุรกิจน้องใหม่นับว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง ถ้าหากผู้ประกอบการมีเทคนิค กลยุทธ์การตลาดและที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ก็เท่ากับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งบนเส้นทางธุรกิจ
มีน - ภูเบศน์ รังสิโย อายุ 22 ปี ลูกแม่โดมจากคณะเศรษฐศาสตร์ ตั้งใจจะทำธุรกิจขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ "Frieden" ตั้งใจเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มอนามัยและคลีนิคการแพทย์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ และเห็นว่าการตลาดในปัจจุบันมีลูกเล่นและมีความซับซ้อน จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มต้น การเข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพฯ จึงตอบโจทย์สำหรับการทำธุรกิจของตน
ไม่ต่างจาก พฤกษ์พนาพัฒน์ ถนอมจิตร หรือพฤกษ์ หนุ่มวัย 28 ปี ที่ตั้งใจจะทำธุรกิจเวชสำอาง เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยชูประเด็นการเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนัง จึงต้องอาศัยการสร้างแบรนด์ โมเดลธุรกิจ รวมถึงความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การสื่อสารการตลาดโดยเฉพาะสื่อออนไลน์
พฤกษ์ ยังกล่าวอีกว่า "อายุไม่ใช่อุปสรรคต่อการทำธุรกิจ คนอายุน้อย แต่ทำธุรกิจร้อยล้าน ก็มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน และคนรุ่นใหม่มีไอเดียสร้างสรรค์ รู้เรื่องราวเทคโนโลยี แต่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เลยมาเข้าร่วมโครงการเพื่อหาแนวทางในการเริ่มทำธุรกิจ"
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพราชมงคลธัญบุรี มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่สู่ตลาดตามนโยบายรัฐบาล ผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.startup.rmutt.ac.th