การหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า OTOP ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย

ศุกร์ ๐๕ สิงหาคม ๒๐๑๖ ๑๐:๕๔
ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย ให้สิทธิผู้มีเงินได้สามารถ นำเงินค่าซื้อสินค้าโอทอป ไปหักลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท นั้น

นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่า "ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย หรือสินค้าโอทอป ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้ซื้อสินค้าโอทอปจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 สามารถนำหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไปใช้สิทธิหักลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่ลงทะเบียนจากกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีในเรื่องดังกล่าว กรมสรรพากรจึงขอชี้แจงให้ทราบ ดังนี้

1. ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

- เป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

- ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าซื้อสินค้าโอทอป ระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท โดยการได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวจะต้องนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

- ต้องเป็นการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สินค้าโอทอป) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยซื้อจากผู้ขายที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

- สินค้าโอทอปดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 เท่านั้น ส่วนสินค้าโอทอปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะไม่ได้รับสิทธินำมาหักลดหย่อน

2. หลักฐานในการหักลดหย่อน

- ต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จากผู้ขาย

- กรณีรายการสินค้าในใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าโอทอปและรายการสินค้าอื่นรวมอยู่ด้วยกัน ในส่วนที่เป็นสินค้าโอทอปผู้ขายจะต้องระบุข้อความในใบกำกับภาษีไว้ในแต่ละรายการสินค้านั้นว่าเป็นสินค้าโอทอป หรือจัดทำเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้าโอทอปโดยมีข้อความในใบกำกับภาษีว่าเครื่องหมายดังกล่าวหมายถึงสินค้าโอทอป

- กรณีสินค้าทุกรายการในใบกำกับภาษีเป็นสินค้าโอทอปทั้งหมด ผู้ขายอาจประทับตรายางที่มีชื่อผู้ขายและมีข้อความว่า "สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าโอทอป" โดยไม่ต้องระบุในแต่ละรายการสินค้าก็ได้

- ข้อความที่แสดงว่าเป็นสินค้าโอทอป เช่น "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" "OTOP""โอทอป" หรือ "One Tambon One Product" เป็นต้น"

สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถดูรายละเอียดได้จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 318 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 272)ฯ ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕9 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่ และศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร โทร.1161

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๑๗:๑๖ กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๑๗:๕๕ Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๑๗:๔๗ โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๑๗:๑๒ ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๑๗:๐๐ กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๑๖:๐๐ WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๑๖:๐๔ เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๑๖:๔๗ ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๑๖:๐๒ NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ