นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ฟินเทคจะเข้ามาพลิกโฉมการให้บริการทางการเงิน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินหรือแหล่งเงินทุน สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดย ก.ล.ต. ได้เตรียมความพร้อมมาแล้วระยะหนึ่ง ในปีที่ผ่านมาได้ออกเกณฑ์เพื่อรองรับการเสนอขายหุ้นผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (equity crowdfunding) ส่งเสริมให้กิจการขนาดเล็กและวิสาหกิจเริ่มต้น (start-ups) ที่เดิมมีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีต้นทุนการระดมทุนสูง ได้มีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงเงินทุนมากขึ้น อีกทั้งยังได้เริ่มศึกษาเกณฑ์เพื่อรองรับการเสนอขายตราสารหนี้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (debt crowdfunding) ที่คาดว่าจะออกตามมาเพิ่มเติมในอนาคต"
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ส่งเสริมผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนให้พร้อมและรู้เท่าทันพัฒนาการต่าง ๆ ของฟินเทค ด้วยการจัดสัมมนา FinTech Forum เป็นประจำทุกไตรมาส สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางทั้งรายใหม่และรายเดิม ทั้งผู้ประกอบธุรกิจโบรกเกอร์ ที่ปรึกษาการลงทุน และบริษัทจัดการลงทุน สามารถปรับรูปแบบการทำธุรกิจ เพื่อนำฟินเทคไปใช้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อาทิ กลุ่มธุรกิจให้บริการ wealth management สามารถนำโปรแกรมช่วยวางแผนหรือจัดพอร์ตการลงทุน (robo-advisor) มาให้บริการแก่ลูกค้า
ในอนาคตคาดว่าเทคโนโลยี blockchain[1] จะเป็นที่นิยมและนำมาใช้ในตลาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งในต่างประเทศจะเห็นการนำฟินเทคไปใช้หลากหลายด้าน เช่น การขายหุ้นนอกตลาด ระบบการทำความรู้จักและตรวจสอบตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางควรเตรียมมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ขณะที่ ก.ล.ต. จะปรับปรุงเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมฟินเทค แต่ยังคงคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา แนวทางกำกับดูแลแบบ regulatory sandbox[2] ซึ่งนอกจากเป็นการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเดิมได้ทดลองให้บริการแก่ผู้ลงทุนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมายในช่วงระยะเวลาหนึ่งภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และช่วยให้ ก.ล.ต. มีข้อมูลก่อนการออกเกณฑ์
"ก.ล.ต. ส่งเสริมการนำฟินเทคมาใช้ในตลาดทุน สนับสนุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมนำฟินเทคเข้ามาจัดรูปแบบการทำธุรกิจตามความถนัดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ ก.ล.ต. ยินดีรับฟังและศึกษาข้อมูลจากทุกฝ่าย เพื่อให้ออกเกณฑ์ที่คำนึงถึงทั้งการส่งเสริมธุรกิจและคุ้มครองผู้ลงทุนไปพร้อม ๆ กัน"นางปะราลีกล่าว
[1] blockchain เป็นการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บข้อมูลมาเป็นระบบเครือข่าย (distributed ledger) ที่มีความปลอดภัยและโปร่งใสสูงมาก เนื่องจากทุกคนในเครือข่ายต้องร่วมกันรับรองและจัดเก็บข้อมูล ทำให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง มีการปิดหรือทำลายระบบได้
[2] แนวคิด regulatory sandbox หมายถึง แนวคิดการเปิดเวทีเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทดลองทำธุรกิจหรือ innovation ได้แบบเสมือนจริง ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ในช่วงเวลาหนึ่ง ต่อผู้ใช้บริการในวงจำกัด เป็นต้น