พื้นดินถิ่นอีสานแหล่งกำเนิด มิตรหมอแคนแฟนหมอลำ ในวงการเพลงลูกทุ่งอีสานมากมาย จากอดีต สู่ปัจจุบัน ทุกบทเพลงในการเรียงร้อยเสียงประสาน คนทำดนตรีแนวนี้จะสอดแทรก ดนตรีอีสาน เช่น แคน โหวด พิณ แม้กระทั่งเสียงโปงลาง เข้าไปในเส้นสายดนตรีที่อยู่ในชีวิตจิตใจของคนอีสานเสมอเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ดนตรีพื้นบ้านอีสานไปในตัว
"แคน" เป็นเครื่องดนตรีที่ใครๆก็รู้จัก เพราะอยู่คู่กับหมอลำมาช้านานเป็นตัวชูโรงชูรสให้หมอลำมีความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นเหมือนตัวแทนของคนภาคอีสาน ที่ดังข้ามฟ้าข้ามทะเลถึงต่างประเทศ
แหล่งผลิตแคนที่มีชื่อเสียงของภาคอีสาน ตามที่ผู้รู้ได้บอกเล่าไว้คือที่ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่นี่ถือเป็น แหล่งผลิต "แคน" ที่ยิ่งใหญ่และดีที่สุดในแผ่นดินอีสาน
เหตุที่แคนแห่งบ้านท่าเรือ มีผู้คนรู้จักมากมาย เพราะผู้นำหมู่บ้านได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำแคน โดยปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความพร้อมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ผู้ที่รักษ์ดนตรีในหมู่บ้านได้เรียนรู้การผลิตแคน จึงทำให้แคนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เมื่อปริมาณแคนมีเยอะ ก็นำออกไปขายตามหมู่บ้านอื่นและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยการสร้างแคนที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ทำให้แคนของบ้านท่าเรือเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ "หมอแคน" จนได้รับความนิยมถึงขีดสุด และปัจจุบันไม่มีการเร่ออกขายเหมือนอดีต เนื่องจากได้รับการส่งเสริมจากส่วนราชการ เอกชน และองค์กรต่าง ๆในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการต่อยอดการผลิตนอกจากจะมีแคนที่เป็นเครื่องดนตรีหลักแล้ว ชาวบ้านยังช่วยกันผลิต "โหวด พิณ และโปงลาง" โดยมีร้านค้าชุมชนเป็นแหล่งวางจำหน่ายเครื่องดนตรีแก่ผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
พัฒนากรจาก "กรมการพัฒนาชุมชน" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน ได้สังเกตเห็นชาวบ้านหลายครัวเรือน นั่งทำแคนอย่างขะมักเขม้น จึงได้นำเรื่องราวไปเล่าให้ผู้บังคับบัญชาฟัง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมสนับสนุนวัสดุในการทำแคน คือ "ไม้แคน" โดยให้ชาวบ้านรวบรวมสมาชิกเป็นกลุ่มเดียวกัน ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งทุนในการจัดหาวัสดุในการทำแคน และด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่าดังกล่าว ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาหว้า ได้ลงพื้นที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะมีแคนเป็นเครื่องดนตรีชื่อดังแล้ว บ้านท่าเรือยังเป็นแหล่งผลิต "ผ้าไหม" เนื้อดี ในโครงการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งผ้าไหมของที่นี่จะมีตรา "นกยูง" เป็นสัญลักษณ์ กลุ่มแม่บ้านยังคงรักษาอนุรักษ์การทำด้วยมืออย่างปราณีตวิจิตรบรรจงด้วยลวดลายเฉพาะตัว เป็นที่นิยมแพร่หลายและมีคุณภาพระดับ OTOP 5 ดาว
ในปี 2552 กรมการพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่หมู่บ้านท่าเรือ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้หลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีกิจกรรมลดรายจ่าย โดยสร้างครัวเรือนปลูกผักสวนครัว ครัวเรือนปลอดอบายมุข กิจกรรมเพิ่มรายได้ โดยสร้างครัวเรือนมีอาชีพเสริม ครัวเรือนใช้เทคโนโลยีเหมาะสม และกิจกรรมการออม โดยสร้างให้ครัวเรือนมีการออมทรัพย์ และชุมชนมีกลุ่มออมทรัพย์ กอปรกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาในด้านการผลิตเครื่องดนตรี และการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านนำมาปรับใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน มีการจัดทำแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและดำเนินการตามแผนพัฒนาหมู่บ้านด้วยพลังความรัก ความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันจึงทำให้หมู่บ้านขึ้นมาอยู่แถวหน้าเป็นที่รู้จัก จนได้รับรางวัลการันตีตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มั่นคง และพึ่งพาตนเองได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "หมู่บ้านท่าเรือ" เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับมั่งมี ศรีสุข ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุนให้หมู่บ้านท่าเรือ เป็นต้นแบบในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป