นับตั้งแต่บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ประกาศใช้ระบบตรวจสอบแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา โดยจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่มีการทำรายการผ่านระบบเท่านั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศต่างสนใจมาลงทะเบียนเข้าร่วม ระบบฯ แล้วกว่า 40,000 ราย และมีเกษตรกรสนใจมาลงทะเบียนในระบบฯ เพิ่มเติม เพราะได้ราคารับซื้อที่สูงกว่าตลาด อีกทั้งคู่ค้า และผู้รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ร่วมมือทำความเข้าใจให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืน ลดการบุกรุกป่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายสุวรรณ เหมภัทระสุวรรณ ผู้รับซื้อข้าวโพดในอำเภอนาน้อยและอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน กล่าวว่า เกษตรกรให้ความสนใจร่วมลงทะเบียนในระบบการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะการลงทะเบียนช่วยให้เกษตรกรได้ราคารับซื้อข้าวโพดที่สูงกว่าตลาด ในช่วงเริ่มต้นของการใช้ระบบฯ เกษตรกรต้องเตรียมเอกสารเพื่อยืนยันพื้นที่ปลูกข้าวโพดถูกต้องตามกฎหมาย ในระยะยาว เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจมากขึ้น จะได้รับประโยชน์จากระบบฯ มากขึ้น ในแง่การนำข้อมูลมาช่วยให้สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ทั้งเรื่องการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน
นายชวนพิศ กองทอง ผู้รับซื้อข้าวโพด ในอำเภอเชียงดาว ฝาง และแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทราบว่า ระบบการลงทะเบียนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทำให้ข้าวโพดที่ลงทะเบียนและยืนยันพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายจะได้ราคารับซื้อที่สูงกว่าตลาด กระตุ้นให้เกษตรกรจากหลายพื้นที่สนใจเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้รับซื้อยืนยันว่ามีความชัดเจนยืนยันว่าเกษตรกรต้องแสดงเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ด้าน นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากคู่ค้า ผู้รับซื้อ ในการอธิบายและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ในการร่วมลงทะเบียนในระบบยืนยันข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวโพดอย่างถูกต้อง โดยระบบฯจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ร่วมปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกร สอดคล้องตามนโยบายการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ เพื่อผลักดันให้ตลอดกระบวนการผลิตรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
"ซีพีเอฟ มีนโยบายที่มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากแหล่งที่มาที่รับผิดชอบ ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่าข้าวโพดปลูกจากพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" นายไพศาลกล่าว
ในช่วงปีแรกของการใช้ระบบฯ บริษัทมีการเก็บรวบรวมข้อมูล และข้อเสนอแนะในการใช้ระบบฯ จากคู่ค้าและเกษตรกร เพื่อนำมาปรับปรุงระบบฯ ให้มีประสิทธิภาพ และประสานความมือกับหน่วยงานภาครัฐ และหลายภาคส่วน เพื่อให้คู่ค้า และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม
นำไปสู่ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน
"สำหรับในรอบการปลูกใหม่นี้ บริษัทฯ เปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนในระบบฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลานรับซื้อในจังหวัด เชื่อว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับจะช่วยส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีคุณภาพสูงขึ้น และมีรายได้ที่สูงขึ้น" นายไพศาลกล่าว
บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของห่วงโซ่การผลิต โดยบริษัทฯ ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และคู่ค้า ดำเนินโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ภายใต้แผน 5 ปี (2558-2562) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการใน 16 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 83,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการอบรม 3,400 คน สำหรับในปี 2559 ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการขยายเป็น 20 จังหวัดแบ่งเป็น 9 จังหวัดในภาคเหนือ 6 จังหวัดภาคกลาง 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 2 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกและตะวันตก./