นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่าไตรมาส 2/2559 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 50.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.62 ล้านบาท หรือ 803.96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.55 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือน มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 81.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.56 ล้านบาท หรือ 1,080.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.90 ล้านบาท
ทั้งนี้กำไรในช่วงครึ่งปีแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB), โรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) และโรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ที่เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้เรียบร้อยในช่วงที่ผ่านมา
"ภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และบริษัทฯได้ขยับเป้าหมายใหม่จากเดิมคาดเติบโต 150% เป็น 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนจาก Adder เป็น Feed in Tariff ของโรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ ซึ่งส่งผลให้กำไรเติบโตอย่างโดดเด่น ส่วนโรงไฟฟ้า ทุ่งสัง กรีน เพาเวอร์ ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากแล้วจึงคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในปริมาณรับซื้อไม่เกิน 9.2 เมกะวัตต์ ได้ภายในไตรมาส 3/2559 ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตในทิศทางที่ดีและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย"นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2560 บริษัทฯ คาดว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ขนาด 9.2 เมกะวัตต์ และไตรมาส 2/2560 โรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ ขนาด 9.2 เมกะวัตต์ จะเริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทฯ เติบโตขึ้นต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายการลงทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ได้ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีอยู่ในมือแล้ว 106 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับใบอนุญาต เริ่มก่อสร้างและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล และบริษัทฯ ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนพลังงานทดแทนชีวมวลหรือพลังงานทดแทนประเภทอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่เช่นกัน หากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบในทันที
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff 2559 ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี,จ.ยะลา,จ.นราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ,อ.เทพา,อ.สะบ้าย้อย,อ.นาทวี) จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 37.7 เมกะวัตต์ จากจำนวนโครงการที่ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 28 โครงการและมีผู้ยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 89 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 593.50 เมกะวัตต์ เนื่องจากบริษัทฯ มีจุดเด่นคือมีความชำนาญด้านธุรกิจโรงไฟฟ้า มีความสามารถในการจัดหาแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบกับมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งและบริษัทแม่ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) (TPOLY) มีศักยภาพสามารถรับเหมางานด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จึงคาดว่าจะมีโอกาสชนะการประมูล