นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะวีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยถึง ความคืบหน้าแผนพัฒนาโครงการเมืองสมบูรณ์แบบอมตะลองถั่น ในประเทศเวียดนามตอนใต้ว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตเป็นใบที่ 3 จากรัฐบาลเวียดนาม เพื่อพัฒนาโครงการอมตะทาวน์ชิฟลองถั่น (Amata Township Long Thanh) มีพื้นที่ 4,706.25 ไร่ (753 เฮกตาร์) สำหรับพัฒนาเพื่อให้บริการ อาทิ ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า พาณิชยกรรม โรงพยาบาล สถานศึกษา มีเป้าหมายในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,800 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะเริ่มใช้เงินลงทุนระยะแรกจำนวน 9.2 ล้านเหรียญสหรัฐบนพื้นที่ 2,082 ไร่ (333 เฮกตาร์) และคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดขายพื้นที่ได้ปี 2561 นี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาพื้นเมืองอมตะลองถั่นทั้งหมด 4 โครงการรวมพื้นที่กว่า 7,939.37 ไร่ (1,270.39 เฮกตาร์) โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตไปแล้ว 2 โครงการรวมพื้นที่ 2,908.75 ไร่ ได้แก่
1. โครงการอมตะซิตี้ลองถั่น (นิคมอุตสาหกรรม High Tech) จำนวน 2,562.5 ไร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า คาดว่าจะเปิดขายที่ดินในปี 2560
2.โครงการอมตะ เซอร์วิส ซิตี้ ลองถั่น1 (AMATA Service City Long Thanh1) จำนวน 346.25 ไร่ (55.4 เฮกตาร์) มีแผนพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย และพื้นที่พาณิชยกรรม รวมทั้งพื้นที่สนับสนุนธุรกิจขนส่ง และคลังสินค้า คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน ปี 2561 และเปิดรับนักลงทุนได้ในปี 2562 ส่วนอีก 1 โครงการนั้น คือ AMATA Service City Long Thanh 2 บนพื้นที่ 324.37 ไร่ (51.90 เฮกตาร์) 51.90 คาดว่าจะสามารถได้รับการอนุมัติภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งทั้ง 4 โครงการคาดว่าจะใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 640 ล้านเหรียญสหรัฐ (22,400 ล้านบาท)
"อมตะได้เริ่มเข้าไปลงทุนยังเวียดนามด้วยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว จ.ดองไน เป็นโครงการแรก ปี 2538 ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในการเข้ามาตั้งโรงงงานจำนวนมากมีนักลงทุนกว่า 21 ประเทศทั่วโลกเข้ามาเช่าพื้นที่โดยคาดว่าในปี 2562 จะให้เช่าพื้นที่เชิงอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด ทำให้อมตะขยายโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมลองถั่น ตั้งอยู่ จ.ดองไน เช่นกัน" นางสมหะทัยกล่าว
ทั้งนี้ "เวียดนาม" กลายเป็นประเทศที่กำลังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากจากทั่วโลกด้วยมีแรงงานในวัยทำงานจำนวนมาก และยังมีสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงในเวทีการค้าโลกที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขณะเดียวกันยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป (GSP) จากสหภาพยุโรป ถือเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่ต้องการใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นจึงทำให้นิคมฯของอมตะเป็นเป้าหมายของการลงทุนในเวียดนามทั้งในปัจจุบันและอนาคต