นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน และนายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญด้านพลังงาน ดังนี้
· แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)
เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบหลักการแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 (SEZ1) ใน 6 พื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบไปด้วย แผนระบบส่ง แผนระบบจำหน่าย และแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ SEZ1
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการลงทุนปรับปรุงและก่อสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงินรวมกว่า 7,350 ล้านบาท รวมทั้งการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแผนและรายละเอียดในการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
· การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ พร้อมเห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว (MOU) โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเตรียมการ
ลงนามใน MOU ดังกล่าว ทั้งนี้ การขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ก่อนยกระดับสู่การเป็น Regional Grid ต่อไป
· การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม แต่การนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ มีเพียงขยะชุมชน โดยไม่รวมถึงขยะอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อให้การนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ครอบคลุมถึงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ที่ประชุม กพช. จึงเห็นชอบกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือนเช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ
· รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย
ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 โดยมีความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามแผนฯ ในระยะที่ 1 คือ การเตรียมความพร้อมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (พ.ศ. 2559-2560) สรุปดังนี้
โครงการนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารถยนต์มินิบัสไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) (2) โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทกริดเพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และ (3) โครงการศึกษาพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงรองรับการติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี เพื่อรองรับโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าและจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเส้นทางสุวรรณภูมิ–พัทยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องรถโดยสารรับส่งพนักงานจาก ปตท. สำนักงานใหญ่–BTS สถานีหมอชิต คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2560
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า จำนวน 200 คัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน จำนวน 100 สถานี โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge จะให้การสนับสนุน 1 ล้านบาท/สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Normal Charge จะให้การสนับสนุน 1 แสนบาท/สถานี
การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาทิ
- กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ดำเนินการด้านมาตรฐานความปลอดภัยการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
- คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการด้านมาตรฐานการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและมาตรฐานการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและการออกใบอนุญาตในการจำหน่ายไฟฟ้า
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รูปแบบเต้ารับ และเต้าเสียบ ฯลฯ
- กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศ เรื่อง กำหนดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
· รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน มิถุนายน 2559 พบว่า ภาพรวมมีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว 7,234 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9,223 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) ที่กำหนดไว้ 16,778 เมกะวัตต์ ในปี 2579 โดยมีสถานภาพการรับซื้อ ดังนี้
1) โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว จำนวน 6,992 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,380 เมกะวัตต์
2) โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 157 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,113 เมกะวัตต์
3) โครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 85 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 730 เมกะวัตต์
· รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร (Building Energy Code)
ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานความคืบหน้าการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขร่างกฎกระทรวง ในการกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรายละเอียดร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตแบบก่อสร้าง และผู้ตรวจรับรองแบบอาคาร เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ ดังกล่าวในอนาคต รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการและสร้างผลกำไรทางธุรกิจ