นายวศิน สุขวัฒน์วิบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวางแผนการเงินลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ผ่านมา เห็นได้ว่ามีความผันผวนมากขึ้น ภายหลังผลการประชามติ Brexit ที่ สหราชอาณาจักรจะตัดสินใจแยกตัวจากสหภาพยุโรป ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี ราคาทองปรับเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลง แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกที่ส่งสัญญาณคงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนง ทำให้มีเงินลงทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่คาดว่าอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะ
"ทาง Phatra Edge แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนตามกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนตามระดับความเสี่ยง (Asset Allocation) และจากบทวิเคราะห์ของ Phatra Wealth Management Research ของ บล.ภัทร มองว่า จากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ และราคาสินทรัพย์ที่ปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน และควรปรับลดสินทรัพย์เสี่ยงให้น้อยกว่าเป้าหมายในระยะยาวเล็กน้อย เพราะคาดว่าตลาดอาจจะมีความผันผวนได้อีก จากความเสี่ยงของผลกระทบจากของนโยบายการเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง และปัญหาภาคการเงินในประเทศกำลังพัฒนา"
ทั้งนี้แนะนำให้ถือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีและสม่ำเสมอ เช่น หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีผลตอบจากเงินปันผลสม่ำเสมอ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลตอบแทนที่น่าสนใจ และด้วยแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไปทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้น
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตลาดจาก Overweight เป็น Neutral จากบทวิเคราะห์ล่าสุดนี้ มองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินในญี่ปุ่นอาจจะเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับผลดีจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2556 โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง แต่ในระยะหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มไม่ส่งผลตามคาด ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้น และภาวะเงินฝืดเริ่มกลับมาอีกครั้ง แม้บีโอเจประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และการขยายวงเงินในการเข้าซื้อ ETF ตลาดยังไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะกลับไปที่ 2% ตามเป้าได้
โดยแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) แต่ยังคงน้ำหนักการลงทุนไว้ต่ำกว่าน้ำหนักตลาด (Underweight) เล็กน้อย อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ความคาดหวังของตลาดต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม Phatra Edge เชื่อว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบจัดสรรเงินลงทุน ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปในหลายสินทรัพย์ และมีระดับความเสี่ยงเหมาะสมกับผู้ลงทุน เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมในภาวะที่มีความไม่แน่นอน และเปิดโอกาสให้นักลงทุนรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาวจากการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้
ในภาวะปัจจุบันนักลงทุนควรกลับมาพิจารณาพอร์ตการลงทุนของตนเองที่มีอยู่ และปรับสัดส่วนการลงทุน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สอบถามข้อมูลหรือรับคำแนะนำทางการเงินได้ที่ 02-305-9559