ดร.อัจฉรา วงศ์วัฒนามงคล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาและการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งบูรณาการการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม คุณภาพครูเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรง เนื่องจากครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน ดังนั้น คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา จึงจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาฯ โดยให้ความสำคัญต่อการวิจัย เพื่อจัดทำบริบทพื้นที่ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นสาระการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระที่เป็นความต้องการของหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ โดยใช้บริบทพื้นที่มาเป็นสาระการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระ ตามความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ข้างต้น
คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นำบริบทแต่ละพื้นที่มาจัดทำเป็นสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ของบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระ นำบริบทพื้นที่และผลการวิจัยมาจัดการเรียนรู้ใน 3 รายวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 535 คน ได้แก่ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่ สพป.ปัตตานี ยะลา นราธิวาสสงขลา ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ในหลักสูตรครูยุคใหม่สอนนักเรียนอ่านออกเขียนได้ การจัดกิจกรรมพัฒนาการคิดวิชาภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR การศึกษาขั้นพื้นฐาน และ การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้สาระสังคมศึกษาโดยบูรณาการสาระบริบทพื้นที่ สามารถนำไปใช้และขยายผลไปสู่การจัดการเรียนรู้ การวิจัย และการดำเนินงานในสถานศึกษาและเครือข่าย
ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวิสัยทัศน์สำคัญประการหนึ่งคือ การเป็นสถาบันพัฒนาครู โดยกำหนดพันธกิจเพื่อรองรับการบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครู สามารถเป็นที่พึ่งและชี้นำสังคมให้ปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ในการนี้คณะครุศาสตร์มีหน้าที่สำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรูปแบบการทำงานที่บูรณาการระหว่างการสอนกับการบริการวิชาการ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งการบริการวิชาการจะถูกนำกลับมาพัฒนาการเรียนการสอนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ อันเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดการเกื้อหนุนกัน โดยดำเนินการควบคู่กันไประหว่างการสอนและบริการวิชาการ ในฐานะองค์กรด้านวิชาการแก่ชุมชน