นายไมตรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ตระหนักถึงการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) รวมทั้งแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2009 – 2015 ในด้านสิทธิและ ความยุติธรรมทางสังคม ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) เวทีประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยแนวคิด ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) คือการทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสมดุล อยู่ร่วมกันได้ อย่างยั่งยืน ช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงจัดสัมมนาขับเคลื่อนการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ในรูปแบบการอภิปราย การบรรยาย และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จำนวน 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี พิษณุโลก และสงขลา สำหรับงานครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ชื่องาน "มหกรรมการส่งเสริม ความรับผิดชอบต่อสังคม ( CSR ) จังหวัดราชบุรี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมเครือข่ายภาคธุรกิจให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะอนุกรรมการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ คณะทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ หน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายจังหวัดราชบุรี นครปฐม นนทบุรี เพชรบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ส.ค.
นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ความรับผิดชอบต่อสังคม ( CSR ) จะเกิดความหยั่งยืนได้ ย่อมเกิดจากทุกคนในสังคม มีจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน เคารพซึ่งกันและกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยทุกภาคส่วนดำเนินการตามภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่มีการประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทาง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน นอกจากนี้ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรม อันเป็นแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐาน ของทางสายกลางและการสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ด้วยความรู้และคุณธรรม ทั้งนี้ ย่อมนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิต และ สร้างสัมฤทธิผลในการพัฒนาอย่างยืนได้อย่างแท้จริง