หากมองภาพรวมด้านการใช้งานดิจิทัลของประชากรไทยนั้นพบว่า อัตราส่วนระหว่างผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกับประชากร ประเทศไทยอยุ่ที่ 56% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลก โดยประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคน และทั้ง 38 ล้านคนนี้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น คนไทยมีผู้ใช้มือถือ 47 ล้านคน คิดเป็น 69% ของประชากรทั้งหมด มีหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียนทั้งหมด 82.8 ล้านเบอร์ คิดเป็น 122% ของประชากรทั้งหมด จากข้อมูลสัมมนาภายในงาน Thailand Social Awards 2016 พบว่าคนไทยใช้เฟซบุ๊ก 41 ล้านคน โตขึ้น 17% คิดเป็น 60% ของประชากรไทย และมี เฟซบุ๊กเพจ 7 แสนเพจ คนไทยใช้ Line 33 ล้านคน อินสตาแกรม 7.8 ล้านคน โตขึ้น 74% ทวิตเตอร์ 5.3 ล้านราย โตขึ้น 18% จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า ประชากรไทยมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสูงและกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิต
สำหรับด้านธุรกิจนั้นพบว่าความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลมีความสำคัญพุ่งสูงขึ้น จากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ พ.ศ. 2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสัดส่วนของสถานประกอบการที่มีพนักงานกว่า 51 คน ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ถึง96.3 เปอร์เซนต์ และสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 200 คน มีการใช้คอมพิวเตอร์ถึง 99.6 เปอร์เซนต์
ถึงแม้ตัวเลขการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะสูงขึ้นแต่ความท้าทายของประเทศไทยคือความศักยภาพทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชนรวมไปถึงประชาชนทั่วไป จากการสำรวจของ ICDL ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้สมัครงาน 49 เปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าตนเองมีทักษะความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการทำงาน "ดีมาก" และอีก 29 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าตนเองมีทักษะความรู้อยู่ในระดับ "ดี" แต่หลังจากนำเอากลุ่มคนตัวอย่างเข้าทดสอบทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พบว่ามีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มีทักษะความรู้ในระดับดีและดีมากสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ICDL ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าบุคลากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และทักษะดิจิทัลมนการใช้ทำงานจริงเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันระดับ Digital Literacy ของประชากรในประเทศอยู่ที่เพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สิงคโปร์ที่เป็นผู้นำด้านไอทีของภูมิภาคมีระดับ Digital Literacy ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ และมาเลเซียอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ การปรับโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ตามแผนนโยบายพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559– 2561) เพื่อยกระดับภาคเศรษฐกิจของประเทศและมุ่งปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) จึงต้องมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะเมื่อวิทยาการทางเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อคนทำงานหรือ Workforce ที่ต้องรับมือตามศักยภาพของเทคโนโลยีให้เท่าทัน การยกระดับพื้นฐานความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเป็นพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่การแข่งขันระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ฮิวจ์ส แพททริค โอคอนแนล ตัวแทน ICDL Asia ประเทศไทย กล่าวว่า "สำหรับประเทศไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลอย่างถูกต้องและมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อการสื่อสารและโซเชียลมีเดียเพียงมิติเดียวICDL เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานตามยุทธศาสตร์พัฒนาทุนมนุษย์ ตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อร่วมนำประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ในรูปแบบการพัฒนายกระดับและระบบการสอบรับรองทักษะดิจิทัลที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งโดยไม่จำกัดทักษะความรู้อยู่เพียงซอฟแวร์เดียว สามารถเลือกสอบทักษะการใช้ซอฟแวร์ใดๆก็ได้ ICDL มุ่งหวังให้เกิดการใช้งานทักษะทางคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และใช้งานได้จริงในการทำงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ไปจนถึงระดับเชี่ยวชาญ"
เป้าหมายของการพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ต้องมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์วัยทำงานให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ในทุกสาขาอาชีพ ให้มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน นอกจากการอบรมให้ความรู้เพิ่มทักษะด้านไอทีแล้ว ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหประชาชาติและยูเนสโก ยังมีการสอบวัดมาตรฐานความรู้ความสามารถด้านไอทีโดยใช้วุฒิบัตรรับรองความสามารถคอมพิวเตอร์สากลInternational Computer Driving License (ICDL) เป็นเกณฑ์สากลซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ด้านไอทีให้สูงขึ้นและเป็นแรงผลักให้ทรัพยากรมนุษย์ถูกพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เป็นเกณฑ์สำหรับคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับนุคดิจิทัลในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนอีกใบเบิกทางสู่โอกาสงานและโอกาสความก้าวหน้าและรายได้ที่ดีกว่าสำหรับนักศึกษาจบใหม่และผู้ที่กำลังมองหาโอกาสงานใหม่ๆ สำหรับประเทศไทยนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งภาคบุคคลคนทั่วไป มุ่งเพิ่มคุณค่าและสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสอดรับนโยบาย Digital Thailand และ Thailand 4.0 เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ