"การเปิดให้โอนย้ายจากกองทุน PVD เข้ามาใน RMF จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกจ้าง อาทิ กลุ่มที่ลาออกจากงานก่อนอายุเกษียณ หรือเปลี่ยนงานโดยที่บริษัทใหม่ไม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและต้องเสียภาระค่าใช้จ่ายปีละ 500 บาทในการคงสมาชิกกองทุนเอาไว้ เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นในการนำเงินออกไปใช้ และไม่ต้องการเสียภาษีเป็นจำนวนมากจากการนำเงินออกจากกองทุน PVD ซึ่งหากลูกค้าโอนย้ายมากองทุน RMF แล้วก็ไม่ต้องเสียค่าคงสถานะดังกล่าว และยังสามารถนับอายุต่อเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อีกด้วย ทั้งนี้นับตั้งแต่บลจ.กสิกรไทยเปิดให้โอนย้ายเข้า RMF ได้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึง ณ วันที่ 18 ส.ค. มีมูลค่าเงินรับโอนมาแล้วทั้งสิ้นเกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินทั้งหมดในส่วนที่สมาชิกแจ้งคงสถานะไว้ในกองทุน PVD ของบลจ.กสิกรไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.7 พันล้านบาท และหลังจากนี้คาดว่าลูกค้าจะทยอยโอนเข้ามาใน RMF มากขึ้น" นายเกษตรกล่าว
นายเกษตรกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบลจ.กสิกรไทย เปิดให้เลือกโอนเข้ากองทุน RMF ได้ 7 กองทุน ซึ่งครอบคลุมนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อาทิ หุ้นและตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFIRMF), กองทุนเปิดเค บาลานซ์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KBLRMF), กองทุนเปิดเค หุ้นทุนบริพัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFLRMF), กองทุนเปิดเค Mid Small Cap หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KMSRMF), กองทุนเปิดเค หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KEQRMF), กองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (KGARMF) และกองทุนเปิดเค โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KGIFRMF) โดย 4 กองทุนหลัง ได้เปิดเพิ่มเข้ามาล่าสุดเพื่อให้ลูกค้าได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้า PVD ที่มีความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของบลจ.กสิกรไทย และต้องการลงทุนต่อเนื่องกับกองทุน RMF ของบลจ.กสิกรไทย และไม่ต้องการโอนย้ายไปยังบลจ.อื่นๆ นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทอาจพิจารณาเพิ่มเติมให้สามารถโอนย้ายไปยัง RMF ได้ครบทั้งหมดจำนวน 14 กองทุน
สำหรับคำแนะนำกับลูกค้าที่โอนย้ายมากองทุน RMF นายเกษตรกล่าวว่า ทางบริษัทจะแนะนำให้ลูกค้าสมัครใช้บริการ K-Cyber Invest (บริการลงทุนในกองทุนรวมทางอินเทอร์เน็ตกสิกรไทย) เพื่อสะดวกต่อการไว้ใช้ตรวจสอบดูยอดเงินลงทุน โดยระบบจะแยกบัญชีระหว่างกองทุน RMF ที่รับโอนเงินมาจาก PVD กับกองทุน RMF เดิมที่ลูกค้ามีการลงทุนกับบลจ.กสิกรไทยอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้เงินในส่วน PVD ที่โอนเข้ามา RMF แล้ว หากลูกค้าต้องการสับเปลี่ยนไปยังกองทุน RMF อื่นๆ ของบลจ.กสิกรไทยในภายหลัง ก็สามารถทำได้ผ่านบลจ.กสิกรไทยโดยตรง แต่จะยังไม่สามารถทำรายการสับเปลี่ยนผ่านระบบ K-Cyber Invest ได้ ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมพัฒนาระบบและจะเปิดให้สับเปลี่ยนผ่าน K-Cyber Invest ได้ต่อไปในเร็วๆนี้
ส่วนกรณีเรื่องกรมสรรพากรที่ยังไม่มีประกาศออกมาชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขทางภาษีกรณีลูกค้าขายคืนกองทุน RMFส่วนที่โอนมาจาก PVD นายเกษตรกล่าวว่าไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากคาดว่าสรรพากรน่าจะเตรียมมาตรการที่เหมาะสมไว้สำหรับกรณีนี้แล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้ลงทุนที่ยังอายุไม่ถึง 55 ปี ก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะยังไม่สามารถขายคืนได้ตามเงื่อนไขทางภาษีอยู่แล้ว เพราะการโอนย้ายจาก PVD มาที่ RMF ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ลงทุนออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุและเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดทางภาษีด้วย ส่วนคนที่อายุครบ 55 ปีแล้ว บริษัทก็จะยังไม่แนะนำให้ขายคืนหน่วยลงทุนในระหว่างนี้ เพื่อรอความชัดเจนเรื่องภาษีจากทางสรรพากรก่อน