นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เปิดเผยว่า หลังจากได้ร่วมคณะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่าไทย และอินเดีย สามารถแสวงหาโอกาสและลู่ทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานในสาขาอุตสาหกรรมที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจและมีศักยภาพซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากสถานการณ์การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย – อินเดีย มีความยืดเยื้อ โดยเห็นว่ากลไกการดำเนินงานระหว่างภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดตั้งการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและธุรกิจ อีกทั้งเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของทั้งสองฝ่าย ตามนโยบาย Make in India ของอินเดีย และนโยบายการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0 และการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ของไทย
โดย สศอ.เห็นว่า กลไกการดำเนินงานเริ่มต้นระหว่างภาครัฐของทั้งสองฝ่าย อาจพิจารณาการจัดทำโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยอินเดียเป็นการเฉพาะ(India Thailand Industrial Cooperation Scheme : ITICS) เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีช่องทางในการสร้างความร่วมมือให้เกิดการพัฒนา การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทานระหว่างเอกชน-เอกชน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งระบุเป็นรายโครงการที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน โดยภาครัฐของทั้ง 2 ฝ่ายให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาษีศุลกากร และการจำกัดปริมาณโควตา ทั้งนี้จะได้ขอรับความเห็นจากภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย ต่อความเป็นไปได้ในการดำเนินงานเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐไทยและอินเดีย เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงระหว่างกันต่อไป
ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการปรับแผนการเจรจาการค้าเป็นรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทวิภาคี มากกว่าการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีประเทศเป้าหมายเริ่มต้น ได้แก่ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV โดยผลการศึกษาเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงด้านเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดีย เพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาคของ สศอ.พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียใน 4 เมืองเศรษฐกิจหลักของอินเดีย ได้แก่ เดลี มุมไบ เชนไนและกัลกัตตา คืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ อุตสาหกรรมยางพารา เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออกไปอินเดียสูงที่สุด
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างกันมากที่สุด คือ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์ (HS 8708) ส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ (HS 8714) และตัวถัง (HS 8707) เนื่องจากตลาดยานยนต์ภายในประเทศอินเดียมีขนาดใหญ่ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์สองล้อ สำหรับเมืองของอินเดียที่มีโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมากที่สุด คือ เชนไน และมุมไบ
ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียมากที่สุด คือ เครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvesting Scheme: EHS) 83 รายการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่งขันจากประเทศอื่นๆ ด้วยอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าของอินเดียลดลงเหลือ ร้อยละ 0 และความต้องการเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ในตลาดอินเดียมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญสินค้าไทยผลิตได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สามารถผ่านเข้าสู่ตลาดอินเดียได้ สำหรับเมืองของอินเดียที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับไทย มากที่สุด คือ เชนไน
สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา พบว่า ยางธรรมชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ล้อยาง ได้แก่ ล้อยางรถยนต์ ล้อยางรถบัสและรถแทรกเตอร์ ล้อยางเครื่องบิน และล้อยางรถจักรยานยนต์ เป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมยางพาราที่ไทยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับอินเดียมากที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตยางธรรมชาติที่ไทยสามารถผลิตได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับปัจจุบันยางธรรมชาติที่อินเดียผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อีกทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต้องใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อินเดียมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียส่งผลให้มีการส่งออกล้อยางของไทยไปยังอินเดียมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเมืองที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมยางพาราไทย-อินเดีย คือ เชนไน และมุมไบ
นายศิริรุจกล่าวทิ้งท้ายถึงข้อควรพิจารณาในการเข้าไปร่วมทำธุรกิจกับอินเดีย คือ เรื่องกฎหมายและภาษี เนื่องจากอินเดียมีโครงสร้างทางด้านภาษีที่มีความซับซ้อน ซึ่งในแต่ละรัฐจะมีกฎหมายและโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ โดยภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการจัดหาและถ่ายทอดองค์ความรู้และความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลด้านกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน