ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในปี 2559 มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ("SOLAR") ได้จัดทำโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (โครงการโซลาร์รูฟ) โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 4 ประการ กล่าวคือ 1. เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ตอบสนองนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน (Sustainable university) 2. ติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วย Solar roof เพื่อประหยัดพลังงานการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องตัวอย่างในการตอบสนองนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล 3. เพื่อสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างในระดับนานาชาติที่มี Solar roof ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซีย และ 4. สร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษาในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
"แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้น ถูกติดตั้งกระจายอยู่บนหลังคาอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดรวม 6 เมกะวัตต์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการติดตั้ง Solar roof ในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและจะทำให้มหาวิทยาลัยประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 50% และลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลง ตอบสนองการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน" ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวในที่สุด
ทางด้านนางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแผ่นเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากว่า 30 ปี กล่าวว่า ทางบริษัทรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 15 MW Solar Roof Asia's Largest Campus Solar Roof กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งนับเป็น campus ที่ติดตั้ง Solar Roof ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย
การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการติดตั้ง Solar Roof นั้นเป็นการแสดงเจตนารมย์ที่เป็นรูปธรรมที่จะมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน หรือที่เรียกว่าช่วง Peak ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งหลักการทำงานของ Solar Roof นั้นจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงนับเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงสามารถช่วยสร้างจิตสำนึกให้นักศึกษาในการมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอีกด้วย โดยโครงการก่อสร้างและติดตั้ง Solar Roof นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2560