นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคติดต่อที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากคน ยานพาหนะ เป็นต้น เพราะเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูล ลมหายใจและบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบ ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียารักษา แต่จะใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาม่วงลดการ ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น ส่วนโรคคอบวมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย จะทำให้สัตว์มีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดังหรือหอบ ยืดคอไปข้างหน้า ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ ไข้สูง น้ำลายฟูมปาก หยุดกินอาหาร และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคคอบวม สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้โดยไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียดจากการเคลื่อนย้าย อากาศเปลี่ยนแปลง การอดอาหาร หรือการใช้แรงงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอาหารและน้ำ
ทั้งนี้ การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์หรือพืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โรคระบาดดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับโค กระบือ แพะ แกะ ปีละ 2 ครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบอมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียให้กับกระบือและโค ปีละ 1 ครั้ง กรณีที่คอกเลี้ยงสัตว์อยู่ในที่ลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบต่อภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ขอให้เกษตรกรย้ายคอกสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ดอนหรือที่น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
ท้ายสุดนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง โดยเฉพาะโค กระบือ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 4131-3