เกาะติดผลกระทบเศรษฐกิจจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60

อังคาร ๒๓ สิงหาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๕๖
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2559โดยมีพื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัย จำนวน30ล้านไร่ทั่วประเทศ วงเงิน 3,217.13 ล้านบาท ครอบคลุมภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ อุทกภัย/น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง วาตภัย ภัยแล้ง อากาศหนาว/ลูกเห็บ อัคคีภัย และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด แบ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. จำนวน 29.5 ล้านไร่ และสำหรับเกษตรกรทั่วไปอีกไม่เกิน 500,000 ไร่ นั้น

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการ เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยเอกชน โดยแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปี 2559 มีอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษี) โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ เกษตรกรชำระเบี้ยประกันภัย 40 บาทต่อไร่ ทั้งนี้หากเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกรเฉพาะในส่วนของวงเงินกู้ สำหรับส่วนเกินวงเงินกู้หากเกษตรกรต้องการที่จะทำประกันภัยเพิ่มต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง

ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ 16บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) (2)บริษัท กรุงไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (3) บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)(4) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (5) บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) (6) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) (7) บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) (8) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) (9) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) (10) บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) (11)บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) (12)บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด (13) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (14) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) (15) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) (16) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี เพราะจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งนี้ภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัยตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภทดังกล่าว วงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่และสำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดวงเงินความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัยทั่วประเทศเป็นจำนวน 30 ล้านไร่ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ เริ่มขายกรมธรรม์สำหรับเกษตรกรทั่วไป ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2559จนถึงวันที่15 สิงหาคม 2559ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 และสำหรับพื้นที่ภาคใต้สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม2559ซึ่งปัจจุบันโครงการฯยังดำเนินการอยู่

สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยมีหลักการโดยที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้เอาประกันภัย สามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) 4 ส่วน ประกอบด้วย รัฐบาล ผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) บริษัทผู้รับประกันภัย และเกษตรกร พบว่า

รัฐบาล เป็นผู้อุดหนุนเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร โดยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ รวมเงินช่วยเหลือ 1,800 ล้านบาท แยกเป็นเกษตรทั่วไป มูลค่า 30 ล้านบาท และเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. มูลค่า 1,770 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังอุดหนุนค่าภาษีและอากรแสตมป์เพิ่มเติมจากมูลค่าเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ด้วย

ส่วนผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) ได้มีการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 40 บาทต่อไร่ สำหรับลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่มีการกู้เงินเพื่อกิจกรรมเพาะปลูกข้าว และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ ธ.ก.ส. กำหนด ซึ่งวงเงินสูงสุดที่จะอุดหนุน วงเงินทั้งสิ้น 1,180 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทผู้รับประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ จ่ายสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จากการประมาณการเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับประกันได้รับสูงสุด มูลค่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรับเงินจากรัฐบาลอุดหนุน 1,800 ล้านบาทและธ.ก.ส. อุดหนุนมูลค่าสูงสุดที่ 1,180 ล้านบาท และสำหรับเกษตรกร เกษตรกรทั่วไปจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 20 ล้านบาท ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยของเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส.กำหนด (ตาราง 1)

ตาราง 1 เบี้ยประกันที่เกษตรกรจ่ายเงินอุดหนุนจาก ธ.ก.ส.และเงินอุดหนุนรัฐบาล

รายละเอียดโครงการ เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. เกษตรกรทั่วไป

เกษตรกรซื้อประกันภัย (เป้าหมาย 29.50 ล้านไร่)

กรณี 1 กรณี 2 กรณี 3 กรณี 4 (เป้าหมาย

100% 70% 50% 25% 0.50 ล้านไร่)

เบี้ยประกันภัย (บาทต่อไร่) 100.00 100.00 100.00 100.00 100.00

เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัย (บาทต่อไร่) - - - - 40.00

ธ.ก.ส.อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย (บาทต่อไร่) * 40.00 40.00 40.00 40.00 -

รัฐบาลอุดหนุน (บาทต่อไร่) 60.00 60.00 60.00 60.00 60.00

พื้นที่เป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ (ล้านไร่) ปี 59 29.50 20.65 14.75 7.38 0.50

ค่าเบี้ยประกันเกษตรกรจ่าย (ล้านบาท) - - - - 20.00

ค่าเบี้ยประกัน ธ.ก.ส. อุดหนุน (ล้านบาท) 1,180.00 826.00 590.00 295.00 -

ค่าเบี้ยประกันรัฐบาลอุดหนุน (ล้านบาท) 1,770.00 1,239.00 885.00 442.50 30.00

รวมค่าเบี้ยประกัน (ล้านบาท) 2,950.00 2,065.00 1,475.00 737.50 50.00

ที่มา : คำนวณโดยศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร,สิงหาคม 2559

หมายเหตุ : * ภายใต้สมมุติฐาน ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส. กำหนด

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ถึงค่าสินไหมทดแทน และส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับจากการประกันภัยข้าวนาปี ในพื้นที่ 30 ล้านไร่ พบว่า กรณี 1 เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซื้อประกันภัยครบตามเป้าหมาย 29.5 ล้านไร่ และเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มีส่วนต่างของเบี้ยจ่ายและค่าสินไหมทดแทน มูลค่าสูงสุดถึง 32,118.42 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท มูลค่า 31,463.52 ล้านบาท และภัยศัตรูพืช/โรคระบาด มูลค่า 654.90 ล้านบาท และในกรณี 2 3 และ 4 ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัยและส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับแตกต่างกันออกไป สำหรับเกษตรกรทั่วไปจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยรวม 20 ล้านบาท หากเกิดประสบภัยจะได้รับค่าสินค้าไหมทดแทน มูลค่ารวม 514.08ล้านบาท สำหรับภัย 6 ประเภท และมูลค่ารวม 10.30 ล้านบาทสำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาด (ตาราง 2)

ตาราง 2 มูลค่าของรายได้ที่เกษตรกร จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59

รายละเอียดโครงการ เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. เกษตรกรทั่วไป

เกษตรกรซื้อประกันภัย (เป้าหมาย 29.50 ล้านไร่)

กรณี 1 กรณี 2 กรณี 3 กรณี 4 (เป้าหมาย

100% 70% 50% 25% 0.50 ล้านไร่)

ค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดภัยพิบัติ (ล้านบาท)/1

ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภท /2 31,463.52 22,024.46 15,731.76 7,865.88 514.08

ค่าสินไหมทดแทนเกิดจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด 654.9 458.43 327.45 163.73 10.30

ส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับ (ล้านบาท) 32,118.42 22,482.89 16,059.21 8,029.61 524.38

ที่มา : คำนวณโดยศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร2559

หมายเหตุ : /1 สัดส่วนการเกิดภัยพิบัติทั้ง 6 ประเภทที่ 96% และภัยศัตรูพืช/โรคระบาดที่ 4% ของพื้นที่เสียหายข้าวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหมด ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากภัย 6 ประเภทมูลค่า 1,111 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืช/โรคระบาดมูลค่า 555 บาทต่อไร่

/2 ภัย 6 ประเภท คือ อุทกภัย/น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง วาตภัย ภัยแล้ง อากาศหนาว/ลูกเห็บ และอัคคีภัย

อย่างไรก็ตาม โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 หากมีการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดภัยพิบัติของผู้เอาประกันภัย และเป็นตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แล้วตามโครงการฯนี้เต็มตามเป้าหมาย จะช่วยบรรเทาการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรได้

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการผลกระทบที่มีต่อโครงการและ/หรือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ควรมีการพิจารณาขยายประเภทของสินค้าเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น เพื่อให้สามารถประกันภัยความเสี่ยงจากธรรมชาติได้ด้วย พร้อมทั้ง ร่วมบูรณาการระหว่างภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความความเข้าใจกับเกษตรกรก่อนการซื้อประกัน และการเรียกร้องสิทธิประกันเพื่อรับค่าสินไหมทดแทนนั้นโดยต้องพิจารณาค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมและการส่งเสริมการตลาดให้สามารถเข้าถึงให้ง่ายถ้าหากว่ารัฐบาลไม่เข้าไปอุดหนุน (subsidy) เพื่อจูงใจให้เกษตรกรซื้อประกันภัยเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลทำให้โครงการนี้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางและให้ลงรายละเอียดในเนื้อหามากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเกิดการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดความสนใจในการทำประกันภัยมากขึ้น รวมทั้งการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเบี้ยประกัน จะทำให้เกษตรกรตระหนักถึงมูลค่าของเงินที่ตนเองจ่ายไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version