เอ็นคอนเส็ปท์จับมือนักจิตวิทยาเด็ก เผย 7 ขั้นตอนเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ

อังคาร ๒๓ สิงหาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๕๐
เอ็นคอนเส็ปท์ จัดกิจกรรม "รู้ก่อน พร้อมกว่า เผยเคล็ด(ไม่)ลับ พิชิตเป้าหมาย" ชี้วิธีรับมือลูกยุคใหม่ พร้อมดึงนักจิตวิทยาเด็ก แนะวิธีเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จด้วยกระบวนการเรียนรู้ 7 ขั้นตอน โดย อาจารย์พิเศษด้านจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นางสาว อริสรา ธนาปกิจ หรือครูพี่แนน ผู้อำนายการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ กล่าวว่า "เด็กในยุค Gen Y และ Gen Z เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างกับรุ่นพ่อแม่ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ของพ่อแม่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่ในยุคนี้ เพราะความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผลที่แตกต่างกัน โดยเด็กในยุคนี้เกิดมาพร้อมความเจริญของเทคโนโลยีที่ทำให้พวกเขามีอิสระในการคิด การแสดงออก ไม่ชอบอยู่ในกรอบ หรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขของคนอื่น ผู้ปกครองจึงควรเปิดใจ ยอมรับฟังความเห็น สร้างความใกล้ชิด และความเข้าใจต่อกันมากขึ้น เนื่องจากคำแนะนำและการเลี้ยงดูนั้นถือเป็นด่านแรกที่จะนำลูกไปสู่เป้าหมาย และความสำเร็จในชีวิต"

นางลักขณา ศิริวงศ์ อาจารย์พิเศษด้านจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ที่จริงแล้วเด็กแต่ละคนมีพรสวรรค์ที่แต่งต่างกัน ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ได้โดยผ่านกระบวนการเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ 7 ขั้นตอน ได้แก่ การจดจำ (Remember) ความเข้าใจ (Comprehension) การนำมาใช้ (Apply) คิดวิเคราะห์ (Analyze) การสังเคราะห์ (Synthesis) การไตร่ตรอง (Reflect) และ การประเมินผล (Evaluate)

การจดจำ (Remember) เป็นทักษะการเรียนรู้พื้นฐาน ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มจากการจำในสิ่งใกล้ตัวก่อน หลังจากนั้นจะพัฒนาเป็นการจำสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยคุณพ่อคุณแม่ช่วยพัฒนาความจำของลูกได้ เช่น เล่นเกมส์หาคำศัพท์ การตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว การต่อจิ๊กซอว์ นอกจากจะส่งเสริมการจำได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาความคิดและการฝึกสมาธิอีกด้วย

ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นทักษะการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากความจำ ถือเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดครุ่นคิดถึงสิ่งนั้น และสามารถใช้มโนทัศน์ (concept) เพื่อจัดการกับสิ่งนั้นได้อย่างเพียงพอและนำไปสู่การพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นได้ เช่น การอ่านหนังสือ เมื่ออ่านวิชานั้นจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถมาสรุปย่อ ด้วยภาษาของตนเอง และสามารถนำไปใช้ในการทบทวนในครั้งต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องกลับมาอ่านทั้งหมดอีก ความเข้าใจนี้ยังหมายถึงการทำตามกฏระเบียบต่างๆ ว่าเพราะอะไรจึงควรทำและไม่ควรทำสิ่งนั้น

การนำมาใช้ (Apply) คือการนำข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจที่ได้เรียนรู้มาใช้ในการปฏิบัติจริง รวมทั้งนำไปใช้ในการหาคำตอบและแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเรียน เมื่อมีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ เราจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การใช้หลักคณิตศาสตร์แก้ไขปัญหา ไปจนถึงการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ความรู้ด้านต่างๆ

คิดวิเคราะห์ (Analyze) หมายถึง ความสามารถในการจำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งอาจจะเป็นวัตถุ สิ่งของ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ โดยสามารถหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น ซึ่งในประเทศอังกฤษจะกำหนดให้ การคิดวิเคราะห์ เป็นวิชาเรียนและให้นักเรียนเลือกสอบในหัวข้อ "ความเป็นที่น่าเชื่อถือได้ของหลักฐาน"(Credibility of Evidence) หรือ "การประเมิน/การสร้างข้อโต้เถียง" (Assessing/Developing Argument) ทักษะการคิดวิเคราะห์จึงเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาอย่างสมเหตุสมผล เป็นทักษะที่ใช้ตั้งแต่ในห้องเรียนไปจนถึงในชีวิตจริง

การสังเคราะห์ (Synthesis) มาจากคำว่า syn- แปลว่า ร่วม และคำว่า thesis แปลว่า ปรากฏการณ์ใหม่ การสังเคราะห์จึงเป็นกระบวนการบูรณาการปัจจัยต่างๆตั้งแต่สองปัจจัย ขึ้นไปให้เกิดสิ่งใหม่หรือเกิดปรากฏการ หรือวิธีการใหม่ เช่น เด็กบางคนจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เริ่มคิดหาวิธีในการพัฒนาตนเอง บางคนใช้สีในการจำ ใช้การวาดภาพเพื่อจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ไปจนถึง

การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญญาในชีวิต เช่น สตีฟ จ็อบส์ สร้างสมาร์ทโฟน และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่าการสังเคราะห์ถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการประสบความสำเร็จเลยก็ว่าได้

การไตร่ตรอง (Reflect) ในยุคดิจิตอลนี้เด็กๆ จะรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์เป็นหลัก ข่าวสารต่างๆ แม้จะมีความรวดเร็วทันใจ แต่หากเชื่อตามข้อมูลโดยไม่ได้ไตร่ตรอง หรือไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวก็อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ การคิดไตร่ตรองทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับเด็กในยุคนี้ ถึงแม้ว่าการไตร่ตรองจะเป็นกระบวนการทำงานที่เหมือนกับการคิดธรรมดา แต่การคิดไตร่ตรองนั้น คือการคิดให้รอบคอบ ถี่ถ้วนในทุกด้าน เพื่อลดอัตราการผิดพลาด และเพิ่มคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น

การประเมินผล (Evaluate) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จและก้าวหน้าเพราะการประเมินผลคือการพิจารณาและตัดสินว่าสิ่งนั้นดีหรือ มีประสิทธิภาพเพียงใด ไม่ว่าการทำงานหรือการเรียน การประเมินผลเป็นสิ่งที่สำคัญและควรปฏิบัติ เพราะจะทำให้รู้ว่า สิ่งที่ทำนั้นประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จควรจะแก้ไขอย่างไร ส่วนใดที่ผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลให้งานทุกอย่างมีคุณภาพมากขึ้นด้วย"

กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวหาก ผู้ปกครองสามารถฝึกให้ลูกๆ คุ้นชินและนำปฎิบัติติดต่อกันเป็นเวลา 21 วันแล้ว จะสามารถพัฒนากลายเป็นนิสัย ตามทฤษฎีการทำซ้ำ ของ Dr.Maxwell Malt ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน และนักเขียนด้านจิตวิทยา "Psycho-Cybernetics" ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีการพัฒนาตนเองมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือการทำงานในชีวิตประจำวัน และทำให้เด็กสามารถไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม