นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า "โครงการ Young Technopreneur Meet Investors" หรือ เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีพบนักลงทุน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการฯที่จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการพบปะกันระหว่างนักลงทุนและทีมเจ้าของผลงาน สร้างโอกาสให้เกิดการเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งเจ้าของผลงานจะได้มีโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นักลงทุนมีโอกาสได้พิจารณาผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน และเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น
"ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทสามารถได้เริ่มสนับสนุนให้เกิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีคนรุ่นใหม่มาเป็นเวลาถึง 14 ปี ผ่านโครงการ Samart Innovation Award จนมาถึงปัจจุบันที่ได้จับมือกับสวทช. จัดโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีติดต่อเป็นที่ 5 ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของเรา ที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วยการส่งเสริมด้านทักษะความรู้ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นแนวทางในการสนับสนุน StartUp ในแบบของเรา จึงมุ่งเน้นไปที่ "การบ่มเพาะ" โดยการเสริมสร้างความรู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นหัวใจของการทำธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ เทคนิคการนำเสนอผลงาน การเจรจาต่อรอง จนถึงการออกไปปฏิบัติจริง เป็นระยะเวลาถึง 72 ชั่วโมง เป็นการติดอาวุธและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักพัฒนาไทย เพื่อให้พร้อมในการลงสนามแข่งขันด้านธุรกิจต่อไป"
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า "สำหรับนักลงทุนที่สนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้มีกว่า 10 ราย มีทั้งนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม ทั้งนักลงทุนรายใหม่ และนักลงทุนที่ผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงนักลงทุนธุรกิจประเภทไอที ที่พร้อมจะสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ และสนับสนุนผู้ที่มีไอเดียดี กำลังมองหาเงินทุนเพื่อทำธุรกิจ โดยธุรกิจนั้นจะต้องมีสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจ มีแผนธุรกิจที่น่าดึงดูด เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และมีทีมงานที่เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
"สำหรับโครงการฯ ปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 100 ผลงาน ผ่านการสัมภาษณ์ให้เข้ารอบแรกมานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการจำนวน 66 ผลงาน และคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ 25 ผลงานที่ได้รับทุน และมี 10 ผลงานที่พร้อมเข้ามานำเสนอผลงานให้กับนักลงทุนในวันนี้ ซึ่งทุกผลงานมีความมุ่งมั่น และพร้อมในการนำผลงานออกสู่ตลาดและจัดตั้งเป็นธุรกิจในโอกาสต่อไป"
สำหรับ 10 ผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอต่อนักลงทุน คัดเลือกจากผลงานที่พร้อมที่สุด ทั้งแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจนและพร้อมต่อยอดทางธุรกิจทันที ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการในตลาด ได้แก่
ประเภท เทคโนโลยีเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม
1. Beernova วัสดุทดแทนไม้คุณภาพสูงจากกากเบียร์
ประเภท เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและเพื่อผู้สูงอายุ
2. อะพาร่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเซรั่มน้ำยางพารา
3. Zzzleepillow นวัตกรรมหมอนที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ
4. FitMeUp แอพพลิเคชั่นช่วยแนะนำการออกกำลังกาย
ประเภท เทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์และการขนส่ง
5. HandyWings ระบบบริหารจัดการงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร
6. HOPS แอพพลิเคชั่นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด
7. Jord Sabuy บริการจองที่จอดรถ
เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
8. Glurr.com แพลตฟอร์มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของนักศึกษา
9. จับจ่าย เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนด้วยลายนิ้วมือ
10. มิวอาย เลนส์ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์
สำหรับโครงการ Young Technopreneur ปีนี้ ยังต้องค้นหาสุดยอดแผนธุรกิจด้านนวัตกรรม ในรางวัล Samart Innovation Award กันต่อไป โดยผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 25 ผลงานต้องมานำเสนอผลงานอีกครั้ง สำหรับผู้สนใจ สามารถดูความเคลื่อนไหวของโครงการฯได้ที่ www.nstda.or.th/bic/ หรือ www.samartsia.com