อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอน
อาจารย์ ดร.จักรกฤช เตโช สังกัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
อาจารย์ ดร.จักรกฤช เตโช เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม จริยธรรม จนเป็นแบบอย่างที่ดี และได้รับยกย่องให้ได้รับรางวัลเกียรติภูมิแม่โจ้ ประเภทบุคคล ประจำปีการศึกษา 2557 ได้ทำการสอนและสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง การจัดทำแผนการสอนตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา และ มีการประเมินผลการเรียนด้วยความยุติธรรมและชัดเจน ผลการประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการสอน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และได้บูรณาการงานวิจัยเข้ากับการเรียนการสอนอย่างดีเยี่ยม โดยได้รับรางวัลโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับภาคเหนือ ระดับประเทศและรางวัลสื่อนวัฒกรรมทางการศึกษา (อุดมศึกษา) ประจำปี 2557 และได้รับรางวัลดีเด่นการเสนอผลงานวิจัยในกลุ่มการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2558 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา
จากผลงานดังกล่าว จึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปีการศึกษา 2558 ด้านการเรียนการสอน
อาจารย์ตัวอย่างด้านการวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ สังกัดคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการวิจัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นตัวแทนของนักวิจัยของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวกลุ่ม Post Harvest Machinery หนึ่งในแหล่งทุนวิจัยภายนอกที่ได้รับทุนวิจัยประเภทผลงานวิจัยดีเด่นงานวิจัย ประจำปี 2558 มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยสาขาวิศวกรรมอาหาร และการสร้างเครื่องจักรกลอาหาร จนเป็นที่ยอมรับจากแหล่งทุนภายนอกภาคเอกชนในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่อยอดจากงานวิจัย โดยมียอดทุนวิจัยรวมตั้งแต่ปี 2554-2559 มีมูลค่ากว่า 22 ล้านบาท และผลการประเมินด้านการวิจัยในระดับดีเด่น และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการนำเสนอภาคโปสเตอร์ในการประชุมวิชาการศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ประจำปี 2558
จากผลงานดังกล่าว จึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปีการศึกษา 2558 ด้านการวิจัย
อาจารย์ตัวอย่างด้านบริการวิชาการ
รองศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช สังกัดคณะผลิตกรรมการเกษตร
รองศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการด้านการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ การปลูกพืชไร้ดิน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามมาตรฐาน เกษตรธรรมชาติและการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น การนำของเสียจากมนุษย์ไปใช้ทางการเกษตรตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยได้ให้บริการวิชาการแก่หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีการสร้างต้นแบบองค์ความรู้ให้หน่วยงานนำไปใช้อย่างแพร่หลาย มีการปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้รับบริการวิชาการ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรประจำฐานเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการบรรยายและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 15 ปี รวมถึงได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรนักวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และต่างประเทศ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ไปใช้เป็นประโยชน์โดยตรงและเผยแพร่ผลงานไปสู่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 10 ปี โดยทำหน้าที่บริการวิชาการอย่างดี เป็นแบบอย่างที่ดี และให้บริการวิชาอย่างเต็มกำลังโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
จากผลงานดังกล่าว จึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปีการศึกษา 2558 ด้านบริการวิชาการ
อาจารย์ตัวอย่างด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
รองศาสตราจารย์เสมอขวัญ ตันติกุล สังกัดคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
รองศาสตราจารย์เสมอขวัญ ตันติกุล เป็นผู้ที่อุทิศเวลาให้กับศาสนาและศิลปวัฒนธรรม และเป็นผู้ดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมของหน่วยงานเสมอมา โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาได้ตระหนักและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ได้คิดริ่เริ่มกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับคณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและจัดกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของคณะโดยต่อเนื่องอย่างโดดเด่นและเข้มแข็ง โดยการแสดงศิลปะพื้นบ้านของนักศึกษาและบุคลากร มีการบูรณาการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นกับการเรียนการสอน ในการสร้างข่วงเมืองวิศวะ จัดแสดงเครื่องมือ ทางการเกษตรของล้านนา กิจกรรมข่วงวัฒนธรรมล้านนา โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีงามตามรูปแบบล้านนาและเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและได้มีส่วนร่วม อาทิ การประกวดโคมลอย การเผยแพร่ความรู้การตัดตุง การให้ชุมชนร่วมจัดแสดงและจำหน่ายอาหารล้านนา เป็นต้น
จากผลงานดังกล่าว จึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น อาจารย์ตัวอย่าง ประจำปีการศึกษา 2558 ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
พนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการดีเด่น
อาจารย์ ดร.สุดาพร ตงศิริ สังกัดคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
อาจารย์ ดร.สุดาพร ตงศิริ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก วุฒิ วท.ด.(เทคโนโลยีชีวภาพ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานดีเด่นและภาคภูมิใจคือ ผลงาน Aquafeed®: Freshwater fish oil in fish feed for growth and health อาหารสัตว์น้ำผสมน้ำมันปลาน้ำจืดเพื่อการเจริญเติบโตและสุขภาพ เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนในการครองตน ครองคน และครองงาน อีกทั้งปฏิบัติราชการด้วยความมานะ อดทน เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นผลดีแก่ทางราชการอย่างยิ่ง และเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน จึงสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการดีเด่น ประจำปี 2558
พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการดีเด่น
นางสาวศุภลักษณ์ ดีน้อย สังกัดคณะคณะศิลปศาสตร์
นางสาวศุภลักษณ์ ดีน้อย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วุฒิ ศษ.ม.(การบริหารการศึกษา)มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานดีเด่นและภาคภูมิใจคือ เป็นผู้ร่วมวิจัย โครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดการกับความเครียด ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนในการครองตน ครองคน และครองงาน อีกทั้งปฏิบัติราชการด้วยความมานะ อดทน เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นผลดีแก่ทางราชการอย่างยิ่ง และเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน จึงสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการดีเด่น ประจำปี 2558
พนักงานราชการดีเด่น
นางบัวตอง ตีฆา สังกัดกองอาคารและสถานที่ สำนักงานอธิการบดี
นางบัวตอง ตีฆา ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานการเกษตร สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าอนุปริญญา วุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสันทราย มีผลงานดีเด่นและภาคภูมิใจคือ งานจัดเตรียมและตกแต่งสถานที่งานพิธีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย งานดูแลบำรุงรักษา งานเพาะพันธุ์กล้าไม้ดอกไม้ประดับให้มีความสวยงาม เป็นต้น เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนในการครองตน ครองคน และครองงาน อีกทั้งปฏิบัติราชการด้วยความมานะ อดทน เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นผลดีแก่ทางราชการอย่างยิ่ง และเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน จึงสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานราชการดีเด่น ประจำปี 2558
ขวัญกำลังใจ จึงเปรียบเสมือนยาชูกำลังชั้นเลิศ ใครก็ตามหากได้เติมยาชูกำลังขนานนี้ก็ยิ่งทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในทุกๆด้าน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงไม่เคยละเลยในการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่คณาจารย์และบุคลากรทุกแขนง เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต…
MJU : The University of life