ผลเท่ อินเด็กซ์ (TE Index) ไตรมาส 3 ชี้ภาคเอกชน 'คะแนนตก'เกือบทุกปัจจัยแถมภาพรวม 'สอบตก' ผลงานยังไม่เข้าตาประชาชน แนะเอกชนเร่งยกระดับคุณภาพสินค้า คุณภาพคน ช่วยกันต้านเอกชนไม่ดีให้ไม่มีที่ยืน เนื่องจากภาพรวม ภาคเอกชนคะแนนร้อยละ 65.6 ลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งได้ร้อยละ 66.9โดยลดลงทั้งด้านประสิทธิผลและด้านการดำเนินงาน ที่สำคัญยังถือว่า สอบไม่ผ่าน เพราะประชาชนให้คะแนนความคาดหวังในผลงานภาคเอกชนไว้สูงถึงร้อยละ 72.4 หรือยังห่างถึงประมาณร้อยละ 7
โดยปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับ มีดังนี้ อันดับที่ 1 ความพึงพอใจภาคเอกชนสูงสุด เรื่อง การตอบสนองต่อผู้บริโภคได้คะแนนร้อยละ 69.2 ลดลงจากไตรมาสก่อนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 2 (ไตรมาสสอง 71.3%) แต่สูงกว่าไตรมาสแรกเล็กน้อย (67.8%) โดยมองว่า ภาคธุรกิจ/ร้านค้า ยังไม่สามารถตอบสนองได้ตรงความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค การกำหนดราคาสินค้าไม่เหมาะสมกับคุณภาพสินค้าที่ได้รับ สินค้าต่างๆ ยังมีราคาแพงในความรู้สึกของประชาชน
อันดับที่ 2 ความเป็นมืออาชีพ ได้คะแนนร้อยละ 68 ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.8 (ไตรมาสสอง 69%)แต่สูงกว่าไตรมาสแรก (58.6%) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยด้านการแก้ปัญหาที่เกิดจากการให้บริการของภาคเอกชนที่ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่ตอบสนองต่อการบริการประชาชน เช่น กรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยามในเส้นทางมุ่งหน้าสถานีบางหว้า ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้มีผู้โดยสารติดค้างอยู่จำนวนมาก เป็นต้น
อันดับที่ 3 ได้แก่ ประสิทธิภาพของภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 67.2 ลดลงจากไตรมาสสองเล็กน้อย ร้อยละ 0.72 (68.2%) สะท้อนให้เห็นว่า มุมมองของประชาชนที่มีต่อการทำงานของภาคเอกชนในเรื่องประสิทธิภาพไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ประชาชนยังมองว่าสามารถใช้ทรัพยากรเพื่อดำเนินกิจการได้อย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจ และอีกส่วนหนึ่งอาจเนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีข่าวในกรณีประเด็นประสิทธิภาพชัดเจนนัก
ทั้งนี้ ในการสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามว่า ธุรกิจหรือร้านค้าที่ดีที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนตลาดในละแวกบ้านมาเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 20.2) โดยมองว่า มีสินค้าหลากหลายประเภท ครบถ้วนใกล้บ้านซื้อง่าย สะดวกราคาถูก ฯลฯ รองลงมาเป็น เทสโก้ โลตัส, เซเว่น อีเลฟเว่น, บิ๊กซี และร้านของชำละแวกบ้าน
ส่วนปัจจัยที่ได้คะแนนน้อยที่สุด อันดับแรก คือ การปลอดคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ได้ร้อยละ 61.9 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน คิดเป็นร้อยละ 1.7 (ไตรมาสสอง 63.5%) แต่สูงกว่าการสำรวจครั้งแรก (ไตรมาสแรก 58.6%)สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมองภาคเอกชนว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในองค์กรและกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไตรมาสที่ผ่านมามีข่าวกรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลของกรุงเทพมหานครกับเอกชน ในการจ้างทำโครงการประดับไฟและการซื้อรถดับเพลิง
ปัจจัยที่ได้คะแนนรั้งท้ายอันดับสองได้แก่ ปัจจัยความรับผิดรับชอบได้คะแนนร้อยละ 62 ลดลงจากการครั้งก่อนร้อยละ 1.3 (ไตรมาสสอง 63.4%) แต่ยังสูงกว่าไตรมาสแรก (58.9%) แสดงให้เห็นว่า ประชาชนมองว่า ภาคเอกชนยังขาดความรับผิดชอบต่อผลพวงด้านลบที่เกิดกับผู้บริโภคซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมามีข่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบหลายเรื่อง เช่น ข่าวการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบของสายการบินแห่งหนึ่ง กรณีสุนัขของลูกค้าเสียชีวิตภายหลังใช้บริการขนส่ง ข่าวบริษัททัวร์หลอกพานักท่องเที่ยวไปลอยแพยุโรป เป็นต้น
ปัจจัยความเป็นสากลได้คะแนนรั้งท้ายอันดับสาม ร้อยละ 62.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.23 (63.6%) สะท้อนว่า ถึงแม้จะมีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้ว หรือได้เริ่มเปิดรับพนักงานแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าธุรกิจไทยยังขาดความพร้อมในการทำงานภายใต้วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย
จากผลสำรวจครั้งนี้ จึงได้มีการเสนอว่า ภาคเอกชนควรยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับระดับราคา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความคุ้มค่ามากขึ้น เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถทำงานแบบข้ามวัฒนธรรมได้มากขึ้น และช่วยกันใช้มาตรการทางสังคมต่อต้านธุรกิจที่ไม่เหมาะสม เช่น เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่รักษาสัญญา ไม่รับผิดชอบ ทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ โดยไม่อุดหนุนสินค้า ไม่ทำธุรกิจด้วย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคเอกชนโดยรวม
ในการสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามเพิ่มเติมว่า ในแต่ละเดือน มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้างพบว่า อันดับหนึ่ง เป็นค่าอาหารการกิน (51.8%) รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (23%) ค่าของใช้อุปโภค บริโภค (22.7%) การพักผ่อนหย่อนใจ (18.5%) และค่ารักษาพยาบาล (18.3%)
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า วิธีที่เลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาการเงินปรากฏว่า อันดับหนึ่ง ใช้วิธียืมเงินคนรู้จัก (64.8%) รองลงมาเป็นการใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (62%) ทำงานหารายได้เสริม (46.7%) กู้จากสถาบันการเงิน (42.1%) และใช้เงินออม (35.9%)
ดัชนีประสิทธิผลในการทำงานของภาคเอกชน (PVE Index) สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้ของประชาชนว่าภาคเอกชนของไทยสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนมากน้อยเพียงใด อันจะช่วยให้ภาคเอกชนกลับไปประเมินและปรับปรุงจุดอ่อน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความอยู่รอดขององค์กร เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวมต่อไป และสามารถติดตามการแถลงผลของสภาปัญญาสมาพันธ์ครั้งต่อไปได้ในวันพุธที่ 28 กันยายน 2559 ณ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สามารถดูภาพข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2bHgidL