ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงที่มาของการจัดประกวดครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยมีพันธกิจด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์และความก้าวหน้าเชิงวิชาชีพ อีกทั้งมหาวิทยาลัยเองถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นอกจากโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับคนพิการเกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว มจธ.ยังมีผลงานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต้นแบบที่เกิดประโยชน์ต่อคนพิการซึ่งเป็นผลงานที่คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้นจากบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาอยู่ค่อนข้างมากจึงมีเกิดแนวคิดจัดทำโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อคนพิการขึ้นโดยใช้เป็นเวทีในการประกวดเพื่อคัดเลือกสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบ หรือแนวความคิดที่สร้างสรรค์โดนใจสามารถนำไปต่อยอดใช้งานจริงกับคนพิการ และสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ได้ขึ้น โดยสวท.พร้อมเป็นคนกลางในการประสานเชื่อมโยงการนำแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมดังกล่าวสู่ผู้ประกอบการภาคเอกชน
โครงการฯ นี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการแล้วยังเป็นการแสดงความสามารถของบุคลากรและสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกทั้งสามารถสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อนำกลับมาใช้หมุนวนในการดำเนินโครงการตั้งแต่การสร้าง การตรวจสอบ การต่อยอด และวนกลับมาคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่เป็นวงรอบวัฏจักร ดังนั้นเพื่อให้โครงการดังกล่าวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวท.ยังได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับการสนับสนุนโปรเจคนักศึกษาในภาควิชาต่างๆ เพื่อที่จะจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องคิดค้นสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประดิษฐ์หรือพัฒนาเครื่องต้นแบบ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องนำผลงานหรือแนวคิดนั้นส่งประกวดในโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อคนพิการในปีหน้าและปีต่อๆ ไป
สำหรับการจัดงานในปีแรกนี้ มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 15 ผลงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทผลงานออกแบบเชิงความคิด 6 ผลงาน และประเภทผลงานนวัตกรรรมและสิ่งประดิษฐ์ 9 ผลงาน ซึ่งเกณฑ์การตัดสินผลงานที่ได้รางวัลจะต้องเป็นนวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบ และทดลองแล้วว่าสามารถนำมาใช้งานได้จริงกับคนพิการ ช่วยทำให้คนพิการได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น มีความคงทน ปลอดภัย เหมาะสมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ และสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ โดยผลการประกวดในประเภทผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานจากโครงการหุ่นยนต์สำหรับสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการปฏิสัมพันธ์ของเด็กออทิสติก , รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานจากโครงการเว็ปแอปพลิเคชั่นส่งเสริมการเรียนรู้หลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็กบกพร่องทางการได้ยิน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้พิการและคนชรา
ส่วนในประเภทผลงานออกแบบเชิงความคิด รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานจากโครงการแอพพลิเคชั่นเพื่อผู้พิการใน มจธ. ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการแอพพลิเคชั่นช่วยเหลือคนพิการแบบเพื่อนเพื่อเพื่อน และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากโครงการ GPS เพื่อคนตาบอดภายในอาคาร และรางวัล Poppular Vote ได้แก่ ผลงานจากโครงการอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุและนำทางสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตาด้วยการประมวลภาพและการตรวจจับระยะทาง ทั้งนี้นอกจากการประกวดแล้วภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิมจธ.กับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตคนพิการ ผลงานนวัตกรรม มจธ.เพื่อคนพิการ และชมการแสดงการขับร้อง โดยคนพิการจากโครงการฝึกอบรม–ฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 3