นางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยที่บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นไอ พี โอ 108.00 ล้านหุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท
บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 215.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 431.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 161.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 323.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 108.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 25.02 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ขณะที่ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 426.57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.39 ล้านบาท ในปี 2557 มีรายได้รวมเท่ากับ 510.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85.40 ล้านบาท ในปี 2558 มีรายได้รวมเท่ากับ 643.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 130.12 ล้านบาท ในขณะที่ผลการดำเนินงานใน 6 เดือนแรก ปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 412.57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 56.84 ล้านบาท ทั้งนี้รายได้จากการดำเนินงานของบริษัท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือโดยรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ คิดเป็นร้อยละ 79.17 และร้อยละ 71.60 ของรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้ารวม ในปี 2558 และใน 6 เดือนแรก ปี 2559 ตามลำดับ
"เราได้ยื่นไฟลิ่งให้กับ อาม่า มารีน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่า AMA จะได้รับการตอบรับที่ดีในการเข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จากโอกาสในการเติบโตในอนาคตหลังจากการระดมทุนเพื่อขยายกองเรือ และรถขนส่งเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าเหลวทั้งใน และต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น" นางศรัณยากล่าว
นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (Logistic) ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ และรถ ทั้งใน และต่างประเทศ โดยในธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ บริษัทเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว (Liquid Product) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (Vegetable Oil Product) เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นหลัก โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี (Oil and Chemical Tanker) ที่มีน้ำหนักบรรทุกประมาณ 3,000 ถึง 10,000 เมตริกตัน ทั้งนี้ เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ทำให้เส้นทางการให้บริการของบริษัทครอบคลุมประเทศที่มีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน ปัจจุบันบริษัทมีเรือบรรทุกน้ำมัน และสารเคมี จำนวน 7 ลำ มีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสิ้น 33,641 เมตริกตัน
"เราได้ยื่นไฟลิ่งสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอและอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กลต. และตลาดหลักทรัพย์ เรามองว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญของบริษัท เนื่องจากการระดมทุนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการขยายเส้นทางการเดินเรือไปยังประเทศที่มีศักยภาพสูง แต่ยังเป็นการยกระดับ และมาตรฐานของบริษัท ให้เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมทั้งแสดงถึงความโปร่งใสขององค์กร" นายพิศาลกล่าว