พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ระบบบัตรทองหรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นชาวบ้านเข้าถึงการรักษาได้ดีมากกว่าอดีตโดยเฉพาะช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่มีระบบนี้ และยืนยันว่า การจ่ายยาได้มาตรฐาน ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งถือว่า ดีระดับหนึ่งที่ประเทศไทยควรได้รับ รวมถึง การรักษาก็เป็นไปมาตรฐานเพราะก่อนที่ตนเองมาเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล เคยเป็นหมอรักษาโรคมะเร็งสมัยก่อน 20 ปีที่แล้วที่คนไข้ไม่มีสิทธิ์ในการรักษาโรคมะเร็ง แต่มีเมื่อระบบ 30 บาทก็สามารถรักษาโรคมะเร็งจนหายได้ และยังมีอีกรายกรณีที่ได้ทำวิจัยยืนยันความสำเร็จมาแล้ว
อยางไรก็ตาม ระบบบัตรทอง ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาปรับปรุงต่อไป ทั้งงบเฉลี่ยต่อหัวที่คิดตามประชากรในพื้นที่ที่โรงพบายาลได้รับยังไม่พอ เพราะหากที่ไหนมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์น้อย โรงพยาบาลเหล่านี้อาจประสบปัญหา คุณภาพการบริการอาจได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐ ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้
ที่สำคัญหากโรงพยาบาลในบางพื้นที่ที่ต้องให้บริการ ผ่าตัดหัวใจ รักษาโรคมะเร็งกับผู้ป่วยเป็นจำนวนมากซึ่งอาจเกิดจากการอยู่ของชุมชนแถวนั้น ตรงนี้อาจไม่พอในการรักษาเพราะต้องใช้ทรัพยากรมาก แต่ถ้าเป็นการดูแลรักษาโรคธรรมดา ผ่าตัดไส้ติ่ง รักษาโรคเบาหวานที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ผ่าตัดต้อกระจก ในพื้นที่ที่โรงพยาบาลมีประชากรพอเพียง ก็รักษาพอ
พญ.โศรยา กล่าวยอมรับว่า การรักษาทุกโรคอาจไม่เท่ากัน แต่ก็มีที่บางโรคที่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ต่างกัน อย่างปัจจุบัน ยาบางตัวที่รักษาโรคมะเร็งบางชนิด ใช้เงินสูงถึง 10 ล้านบาท ต่อการรักษาผู้ป่วย 1 คน ดังนั้น ต่อให้สิทธิ์อะไรก็ตาม จึงไม่พอขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย
ผอ.รพ.เสนา จ.อยุธยา กล่าวว่า ที่มีการพูดว่าโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งขาดทุน และต้องล้มละลายเพราะระบบบัตรทอง ไม่ใช่ 100% เสมอไป อย่างที่บอกว่า โรงพยาบาลจะเจ๊งหรือไม่ ไม่ใช่เหตุผลของระบบบัตรทอง ขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น แต่ยืนยัน งบเหมาต่อหัวที่โรงพยาบาลได้รับจากระบบบัตรทองไม่พอแน่ๆ
"ทางออกคือ ถ้าเราอยากขับรถเบนซ์ เราอาจจะต้องมีเงินจ่ายเพื่อซื้อ แต่ถ้าอยากขับรถธรรมดา ก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม มันก็หลักการเดียวกับ ซื้อประกันชีวิต ระดับหนึ่งได้รักษาอันหนึ่ง แต่ยืนยันว่า มาตรฐานของบัตรทองดีกว่าหลายประเทศในเอเชียระดับหนึ่ง คนกัมพูชาที่มารักษาบอกว่า ถ้าอยู่บ้านหนู หนูตายแล้ว แต่เราคงเทียบกับญี่ปุ่น กับ สิงคโปร์ ไม่ได้ ในส่วนของโรงพยาบาลที่ดูแลอยู่ คนไข้ที่เป็นมะเร็ง คนไข้ใส่สายสวนหัวใจ ล้างไต ก็ใช้บัตรทองทั้งนั้น" พญ.โศรยา กล่าว
พญ.โศรยา กล่าวว่า ที่มีการพูดว่าระบบบัตรทอง มีการยาเหมาโหล นั้น ความจริงไม่ควรพูดอย่างนั้น แต่อาจเป็นปัญหาที่บริษัทยาไม่ได้จ่ายยามาเพราะเงินยังไม่เข้า ซึ่งตรงนี้บางครั้งโรงพยาบาลก็ต้องแก้ปัญหาการบริหารจัดการด้วยการยืมเงินจากโรงพยาบาลใหญ่ๆมาก่อน เหมือน พี่ช่วยน้อง โรงพยาบาลน้องเงินไม่พอพี่ยกหนี้ให้ เอากระเป๋าซ้ายมาใส่กระเป๋าขวา
ผอ.รพ.เสนา จ.อยุธยา กล่าวว่า การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องดีเพราะประชาชนได้เข้าถึง แต่ต้องปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยควรดีกว่านี้ หากบริหารข้อมูลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะช่วยอะไรได้มาก