รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดนิทรรศการศิลปะและอบรมเชิงปฏิบัติการ "SKRU ARTS WORKSHOP" กลุ่มศิลปินไทย-เวียดนาม และนิสิตนักศึกษาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคใต้ ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ 24-28 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า นิทรรศการศิลปะที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างหลักสูตรทัศนศิลป์ งานวิเทศสัมพันธ์ และ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งฮานอย (Hanoi University of Industrial Fine Arts ) ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านศิลปะเฉพาะทาง 13 สาขาวิชา นับเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มศิลปินด้านจิตกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจขยายความร่วมมือทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนศิลปินด้านจิตกรรมและสาขาใกล้เคียง โดย Mr.Nguyen Ngoc Quan ศิลปินชาวเวียดนาม ได้มอบพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งวาดด้วยเทคนิคสีน้ำให้กับ มรภ.สงขลา เป็นที่ระลึก
อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้มีผลงานจัดแสดงทั้งสิ้น 17 ชิ้นงาน จาก 12 ศิลปิน นับเป็นโอกาสดีของนักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจ ที่จะได้ชื่นชมผลงานศิลปะจากศิลปินที่มีชื่อเสียงในเวียดนาม และในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปกรรม โดยมีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 38 คน ทั้งจากประเทศเวียดนาม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้ ในการเชื่อมสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่าง มรภ.สงขลา กับ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งฮานอย มีจุดเริ่มต้นจากการที่ อ.รพีพัฒน์ ผลรัตนไพบูลย์ หลักสูตรทัศนศิลป์ มรภ.สงขลา นำผลงานไปจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งฮานอย ร่วมกับกลุ่มศิลปินเวียดนาม Mr. Trinh Tuan ประธาน Asia Arts Link เมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว และได้เวิร์คชอปทางศิลปะร่วมกันช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศไทย ณ มรภ.สงขลา โดยกิจกรรมครั้งต่อไปคาดว่าจะเป็นที่เวียดนาม และจะเชิญ อ.รพีพัฒน์ พร้อมคณะ เดินทางไปร่วมงานช่วงต้นปี 2560 โดยอาจขยายไปยังศิลปินทางด้านจิตกรรม เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ
ด้าน อ.รพีพัฒน์ ผลรัตนไพบูลย์ และ อ.รัชยา วีรการณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของหลักสูตรและคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ที่จัดโครงการลักษณะนี้ โดยอาจขยายขอบเขตเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสองสถาบันการศึกษา หรืออาจเป็นโครงการนำร่องไปสู่ความร่วมมือระดับอาเซียนหรือนานาชาติได้ในครั้งต่อไป เนื่องจากประเทศไทยมีบทบาทในการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประชากร 600 ล้านคน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในอนาคตประชาชนของประเทศในอาเซียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น จะเกิดความร่วมมือต่างๆ มากขึ้นในทุกมิติ และภาษาที่จะต้องใช้ในการพบปะ เจรจา ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว คือการเพิ่มทักษะทางภาษาและการเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประเทศในกลุ่มอาเซียน การร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงานทางทัศนศิลป์อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญมากที่จะพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ทางด้านนี้ เพราะจะได้สังเกต ศึกษากระบวนการ เทคนิควิธีการของศิลปินแต่ละคนเพื่อการนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน อีกทั้งการแสดงผลงานศิลปกรรมและกิจกรรม Arts Workshop ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์และประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ ศึกษา จากศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน