นายณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหาร บริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด กล่าวถึงประเด็นการแยกธุรกิจบริการออกจากเดอะแวลลูซิสเตมส์หรือแวลลูฯ ไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ว่า "ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แวลลูฯยึดมั่นกับการทำธุรกิจเป็นผู้ค้าส่งสินค้าไอทีอย่างเหนียวแน่น เริ่มตั้งแต่สินค้าคอมโพเนนท์ เรื่อยมาจนถึงดีไวซ์และเอ็นเตอร์ไพรส์ไอทีโซลูชันในปัจจุบัน โดยมีธุรกิจบริการด้านไอซีทีเป็นเสมือนทัพหลังที่คอยให้การสนับสนุนฝ่ายขายมาโดยตลอด สาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องแยกธุรกิจบริการออกในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจบริการด้านไอซีทีที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันลูกค้าเป้าหมายของบริการไอทีไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่ได้ขยายออกมาถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และยังครอบคลุมมาถึงผู้บริโภค ที่มองว่าสมาร์ทดีไวซ์คือปัจจัยที่ 5 ของชีวิตที่ขาดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อเสียก็ต้องซ่อมทันที เพื่อให้พร้อมใช้งานเสมอ ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่เองก็ให้ความสำคัญกับไอทีโซลูชันที่ทันสมัยและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยี Big Data และ Internet of things เพื่อการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล และมีความตื่นตัวระวังภัยในความเสี่ยงของระบบอินฟราสตรัคเจอร์ด้านไอทีของตนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
และเมื่อหันมามองผู้ให้บริการด้านไอซีทีเซอร์วิสในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีบริษัทใดในไทยที่มุ่งมั่นทำเซอร์วิสที่ให้บริการตั้งแต่ระดับคอมโพเนนท์ไปจนถึงเอนเตอร์ไพรส์อย่างชัดเจนเลย ผมจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตที่ชัดเจนของธุรกิจนี้ จึงเป็นที่มาของวีเซิร์ฟพลัส"นายณรงค์กล่าว
บริษัทวีเซิร์ฟพลัส จำกัด ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยบริษัทวินท์คอม เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในเครือวีเน็ทแคปปิทอล ถือหุ้น 51% และบริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด ถือหุ้น 49%
นายณรงค์กล่าวว่า "วีเซิร์ฟพลัสยังนับเป็นบริษัทในเครือของแวลลูฯด้วย (Associated Company) บุคลากรหลักคือพนักงานของแวลลูฯเดิมที่ทำงานด้านเซอร์วิสจำนวน 164 คนจะโอนย้ายไปที่วีเซิร์ฟพลัสทั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป"
"ในส่วนของแวลลูฯเองนั้นก็จะไปโฟกัสที่การขายสินค้าอย่างเต็มที่ เพื่อเติบโตขึ้นเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการแข่งขันยิ่งขึ้น เพราะต่อไปเราจะไม่ได้มองแค่ตลาดไอทีในไทยอีกต่อไปแล้ว แต่เราจะต้องก้าวออกไปถึงประเทศในกลุ่ม CLM ด้วย และถึงแม้ตัวเลขผลประกอบการจะหายไปบ้าง ก็เพียงแค่ 3-4% ของธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อแวลลูฯ เลย นอกจากนี้ แวลลูฯเองยังถือหุ้นอยู่ในวีเซิร์ฟพลัสถึง 49% ยังสามารถได้รับผลกำไรจากในส่วนนี้ด้วย และในส่วนของวีเซิร์ฟพลัสนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอรับงานบริการที่ส่งมาจากแวลลูฯเพียงฝ่ายเดียว เราต้องออกไปเปิดตลาดใหม่ที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ต้องขวนขวายหาโอกาสจากลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศ CLM เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ อนาคตผลกำไรที่แวลลูฯจะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน" นายณรงค์กล่าว
ด้านบริษัทวินท์คอม เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ออราเคิลอย่างเป็นทางการในประเทศไทย และเป็นบริษัทในเครือวีเน็ทแคปปิทอลที่นายณรงค์ อิงค์ธเนศ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานของวินท์คอมฯ กล่าวถึงการร่วมทุนในครั้งนี้ว่า "วีเซิร์ฟพลัสจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับวินท์คอมฯ ทำให้มีพอร์ตรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีรายได้มาจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว ต่อไปก็จะได้จากธุรกิจบริการเพิ่มเข้ามา แม้จะเพิ่งจัดตั้งบริษัทแต่จะมีรายได้และทำกำไรทันที เนื่องจากธุรกิจการให้บริการมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการด้านไอซีทีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16-18% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจไอทีที่มีอัตราการเติบโตไม่ถึง 10% ที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจบริการของแวลลูฯอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าตัวเลขรายได้ของวีเซิร์ฟพลัสภายใน 5 ปีจะแตะที่ระดับ 700 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน" นายณรงค์กล่าว
นางทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทวินท์คอม เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปัจจุบัน บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) การเข้าร่วมทุนกับแวลลูฯเพื่อขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจการให้บริการด้านไอซีทีในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับวินท์คอมฯยิ่งขึ้นไปอีก และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าผลการดำเนินงานของวินท์คอมฯภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะมีรายได้รวมแตะที่ระดับ 2,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ระดับ 1,200 ล้านบาท"
บริษัทวีเซิร์ฟพลัส จำกัด จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 เป็นต้นไป นำทีมโดยนายณรงค์ อิงค์ธเนศ ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร และนายศุภเกียรติ ตันตระกูล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ดำเนินธุรกิจบริการแบ่งออกเป็น 4ประเภท ได้แก่
1. Install-based Business ดูแลการต่อสัญญาของกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสัญญาบริการ (Hardware, Software, Subscription) ที่บริการตรงจากผู้ผลิต
2. Professional Service ดูแลกลุ่มลูกค้าด้าน Enterprise Product ในเรื่องของการติดตั้ง การอิมพลิเมนต์ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบโซลูชันใหญ่ ๆ ที่ทันสมัยและซับซ้อน เช่น Data Center Hardware, Software, Network, Security และVirtualization รวมถึง Cloud Services เช่น Infrastructure as a Service (Iaas)
3. Service Center and Logistic Management ดูแลด้านบริการงานซ่อมบำรุงของศูนย์บริการทั่วภูมิภาค (Nationwide Service) ทั้งที่สำนักงานใหญ่ ร่มเกล้า และศูนย์บริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 10 แห่ง ได้แก่ อาคารพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ชั้น5 กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, พิษณุโลก, ขอนแก่น, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, หาดใหญ่, ระยอง และหนองคาย รวมถึงศูนย์บริการของ Asus และ Lenovo ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารจัดการอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ชั้น2, 3 และ 4
4. Service Business Operation ดูแลงานบริการคอลล์เซนเตอร์ของสินค้าหลากหลายยี่ห้อ อาทิ ซิสโก้ บัฟฟาโล และดีลิงค์ เป็นต้น