สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้ เป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นใน "กว๊านพะเยา" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คน แต่ในปัจจุบันพบปัญหาจำนวนมากโดยเฉพาะ ความหลากหลายทางชีวภาพด้านชนิดพันธุ์ปลาที่มีจำนวนลดลงทั้งชนิดและปริมาณ สถานการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ปรากฏการณ์ปลากอง ปลาขึ้น หรือ ฝูงปลาร้องในกว๊านพะเยามีจำนวนการพบเจอน้อยลงทุกที หากเป็นเช่นนี้....ในอนาคตอันใกล้ ความงดงามของทัศนียภาพแหล่งน้ำขนาดใหญ่โล่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ที่มีเรือแจวลำเล็กของชาวประมง พื้นบ้าน ล่องเรือหาปลาอยู่ในกว๊านพะเยาอันเป็นภาพสะท้อนความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพที่งดงามอยู่เคียงคู่กับบึงน้ำใหญ่แห่งนี้มาช้านานอาจจะหายไป พร้อมๆกับ เสียงปลาร้องเพลงในฤดูกาลผสมพันธุ์ หรือที่ชาวประมงเรียกกันว่า "ปลากอง"จะหายตามกันไปด้วย และปรากฏการณ์แห่งความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาด้านประมงที่กว๊านพะเยาที่ล่มสลายลงไปด้วย การทำประมงพื้นบ้านที่กว๊านพะเยาจะเหลือเพียงตำนานและเรื่องเล่าเท่านั้น หากไม่มีแนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมให้ตระหนักถึง คุณค่า ความผูกพันระหว่างวิถีชีวิตของคนกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทรงคุณค่า คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพะเยา
ผศ.ดร.วิบูลย์ กล่าวอีกว่า การวิจัยครั้งนี้ เป็นการหยิบยกประเด็นปรากฏการณ์หนึ่งที่จะเป็นจุดร่วมเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือและเป็นต้นแบบของการพัฒนา โดยเป็นการศึกษาที่มีการบูรณาการงานวิชาการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่จะศึกษาด้านปรากฏการณ์ธรรมชาติปลากองและการเปล่งเสียงของปลาแต่ละชนิดซึ่งในประเทศไทยยังมีงานวิจัยด้านนี้น้อยมาก ส่วนการศึกษาทางสังคมมานุษยวิทยาเพื่อศึกษาถึงภูมิปัญญา ความเชื่อและประเพณีของวิถีประมงที่เกี่ยวข้องกับปลากอง จากนั้นนำไปสู่การยกระดับให้ ปรากฏการณ์ธรรมชาติปลาร้อง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาด้านประมง สู่การวางแผนจัดการในเชิงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น อันจะเป็นต้นแบบของ การพัฒนาธุรกิจทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแนวใหม่ที่มีการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในกว๊านพะเยาให้มีความยั่งยืนสืบไป