นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือน กรกฎาคม 2559 หดตัวร้อยละ 5.1 โดยอุตสาหกรรมสำคัญ ที่ หดตัว อาทิ รถยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางรถยนต์ อย่างไรก็ตาม มีอุตสาหกรรมปรับตัวสวนกระแส โดยมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปและเกษตรแปรรูป เช่น เนื้อไก่แช่แข็ง และการแปรรูปผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านราคาและปริมาณการผลิต ภายหลังภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ การเดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐที่ได้เริ่มขึ้น ธุรกิจที่อยู่อาศัยขยายตัว ส่งผลให้คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.27
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรม (MPI) มีการหดตัว ได้แก่
รถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ8.41 และร้อยละ 12.61 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของรถปิกอัพ ประกอบกับตลาดในตะวันออกกลาง
เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.62 เนื่องจากการชะลอตัวจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ผู้บริโภคสินค้าประเภทนี้ยังมีความระมัดระวังมาก
ผลิตภัณฑ์พลาสติก การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.17 โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทกระสอบพลาสติก และถุงพลาสติก
ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.05 โดยเป็นการลดลงของสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยางแผ่น และผลิตภัณฑ์ยางแท่ง
ส่วนสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ45.05 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอาเซียนมีความต้องการเพิ่มขึ้น
น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.23 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และแก๊สโซฮอล 95 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาโรงกลั่นหลายแห่งมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณที่สูง
คอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ17.27 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีต การเดินหน้าของโครงการประชารัฐที่ได้เริ่มขึ้น ทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายลงทุนของผู้บริโภคสูงขึ้น
แป้งมันสำปะหลัง การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.51 เนื่องจากตลาดในและต่างประเทศมีความต้องการใช้แป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื้อไก่แช่แข็ง การผลิตเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.80 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2559 คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ตู้เย็น ตามลำดับ