ล่าสุด รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้เกียรติไปร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นวัตกรรมขับเคลื่อนสังคม" ในงานสัมมนา Future Fashion Enhancing Life ที่มีผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ของเทคโนโลยีและแฟชั่นมาพูดคุยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านแฟชั่นและโครงสร้างสื่อดิจิตอลในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจัดโดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ที่ NOW26 สตูดิโอ สยามสแควร์ โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า ในฐานะที่ มจธ.เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พยายามสร้างนักศึกษาให้เป็นนวัตกร คิดวิเคราะห์เป็น ทำเป็น และประยุกต์เป็น หากกล่าวถึงทิศทางของโลกในวันที่เทคโนโลยีและแฟชั่นเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกัน คงต้องบอกว่า มจธ. เองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น แต่ มจธ. จะให้ความสำคัญกับการศึกษาและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานทางด้านแฟชั่นที่กำลังขยายตัวในทิศทางใหม่อยู่ได้
"นวัตกรรมเป็นตัวที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะในปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยเป็นเศรษฐกิจที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นประเทศจึงต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การให้ความรู้อีกต่อไป แต่ต้องสร้าง
บุคลากรที่มีความสามารถและรู้เท่าทันกระแสของเศรษฐกิจโลกเพื่อที่เขาเหล่านั้นจะสามารถประยุกต์เอาความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้มากที่สุด"
นอกจากตัวอย่างบางส่วนจากการปาฐกถาของ รศ.ดร.ศักรินทร์ แล้วภายในงานยังมีการบรรยายของ คุณ Lisa Lang ผู้นำของโลกในด้าน wearables technology จาก ElektroCouture ประเทศเยอรมนี ที่บรรยายเกี่ยวกับแฟชั่นและเทคโนโลยี โดยมีใจความที่สอดคล้องกันว่ามีสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ คือการที่บริษัทสินค้าแฟชั่นแบรนด์ต่างๆ หันมาร่วมมือกับบริษัทซอฟท์แวร์ชั้นนำของโลกเพื่อสร้าง fashion technology มากขึ้นก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การผลิตสิ่งทออัจฉริยะ หรือ smart textile การสร้างสรรค์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีความฉลาดด้วยการถักทอเซ็นเซอร์หรือไมโครชิพเข้ากับเส้นใยผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้สวมใส่ และในอนาคตสมาร์ทโฟนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องนุ่งห่มได้อย่างแนบเนียนเลยก็ได้
"อาชีพนักแฟชั่นเทคโนโลยี คืออาชีพใหม่นับจากปัจจุบันนี้ไป เวลา 15 ปีที่ผ่านมาแฟชั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมไม่เคยหยุดนิ่ง วงการแฟชั่นต้องดูว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรมาปรับใช้กับแฟชั่นได้บ้าง เรามีทรัพยากร เรามีไอเดียแต่เราไม่มีบุคลากรที่จะมาสนับสนุนให้ไอเดียเราเกิดขึ้นได้ เรามีเครื่องมือแต่เราไม่สามารถทำให้เครื่องมือเหล่านั้นผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติในแบบที่เราต้องการได้ จึงต้องอาศัยนักเทคโนโลยีหรือวิศวกรมาช่วย ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรเหล่านี้ออกมา เป็นคนที่จะเข้าใจทั้งแฟชั่นและเทคโนโลยี เป็นวิศวกรที่ต้องเรียนออกแบบด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น"
นอกจากนั้น ดร.ปริยกร ปุสวิโร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย ESIC Laboratory หรือ Edutainment & Socio-Interaction Computing ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. กล่าวเสริมว่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. เองเห็นความสำคัญของทิศทางการศึกษาในด้านนี้จึงได้มีการเปิดวิชาเลือก Interactive Computing for its Applications in Arts and Sciences และ Ubiquitous Computing and Wearable System ซึ่งเป็นวิชาที่เน้นให้นักศึกษาได้สวมบทบาทเป็นนักออกแบบเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงงานคอมพิวเตอร์ และระบบอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เข้าไปปฎิสัมพันธ์ในงานออกแบบแฟชั่น และศิลปะ โดยในปีนี้นักศึกษาที่เรียนวิชาดังกล่าวจะได้ใช้องค์ความรู้ ซอฟท์แวร์ต่างๆ ในการประมวลผลและสร้างสรรค์งานด้าน smart textile ให้กับเหล่า young designer เพื่อทำให้เสื้อผ้าเกิดปฏิสัมพันธ์ทางแสงสีเสียงกันได้บนแคทวอล์ค ในงาน Bangkok Fashion Week ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
"มจธ.เปิดวิชาดังกล่าวมากว่า 4 ปีแล้ว ทุกครั้งที่ทีมของเราต้องทำงานและผลิตชิ้นงานศิลปะในฐานะนักออกแบบเทคโนโลยี (Design Technologist) ให้กับการจัดแสดงงานศิลปะหรือแฟชั่นต่างๆ พวกเราทำงานกันหนักมาก เพื่อเชื่อมโยงความรู้วิศวกรรมเข้ากับงานออกแบบศิลปะ และเด็กนักศึกษาเราได้ความรู้ ความสนุก ประสบการณ์ที่เหนือกว่าคนอื่นๆ เป็นสิ่งตอบแทน ที่สำคัญเด็กเราได้เรียนรู้และเข้าใจแนวคิดการออกแบบกับ professional ในวงการศิลปะและแฟชั่นอีกด้วย"