นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ถือว่ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเครือข่ายภาคีการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นหลายภาคส่วน และหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ คือ องค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทั้ง มูลนิธิ สมาคม ทำให้การช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง แต่ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น สพฉ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายกู้ชีพกว่า 2,000 คน จาก 300 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ งานการแพทย์ฉุกเฉินและงานกู้ชีพ กู้ภัย และที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ
"การทำงานวันนี้ เราต้องรวมพลังกู้ชีพกู้ภัย จิตอาสาไทย ใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่อยู่ในประเทศไทยได้รับการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง เท่าเทียม และช่วยกันรวมพลังพัฒนาแนวทางการช่วยชีวิตผู้ป่วยจนรอดตาย รอดจากความพิการ โดยใช้เวทีวิชาการ การจัดนิทรรศการ การสาธิตการปฏิบัติการ เป็นตัวเชื่อมโยงและพัฒนาการทำงาน" นพ.อนุชากล่าว
ด้านนายมนตรี ไตรรักษ์ ประธานมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร กล่าวว่า การประชุมร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาและสร้างความร่วมมือ ร่วมใจระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้ให้นโยบาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ดีที่สุด
โดยกิจกรรมการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ชีพกู้ภัย การบรรยายการให้ความรู้ด้านกู้ชีพกู้ภัย การเสวนาการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และที่สำคัญยังมีการจัดแสดงสาธิตการกู้ชีพกู้ภัย ทั้งการกู้ชีพทางน้ำ การช่วยเหลือด้วยอากาศยาน , การกู้ชีพการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และการกู้ชีพการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่อยู่ในที่สูง เพื่อเป็นต้นแบบให้ภาคีเครือข่ายนำไปใช้พัฒนาการทำงาน เพื่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง