กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ก.ส.ล.
เลขาธิการ ก.ส.ล.เปิดเผยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมแสดงความมั่นใจว่าตลาดจะมีสภาพคล่องมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการซื้อขายไม่น้อยกว่า 650,000 ข้อตกลง และเพิ่มสินค้าที่ซื้อขายในตลาดไม่ต่ำกว่า 9 รายการในปี 2553 เตรียมเน้นการเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร รวมทั้งสร้างพันธมิตรต่างประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร
นายชัยพัฒน์ สหัสกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (คณะกรรมการ ก.ส.ล.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า สำนักงานคณะกรรมการ ก.ส.ล.ได้มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งองค์กรตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ.2542 โดยเฉพาะตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดซื้อขาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ทั้งความพร้อมของตลาด ความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุน และอื่นๆ ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วง จนตลาดสามารถเปิดทำการซื้อขายครั้งแรก โดยซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 และทำการซื้อขายข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์เป็นรายการต่อมาได้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2547
ทั้งนี้ นายชัยพัฒน์ยังได้แสดงความมั่นใจว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตและมีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทำการเปิดการซื้อขายเป็นต้นมา โดยเฉพาะในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 เกิดการซื้อขายสูงสุดถึง 906 ข้อตกลง ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่คาดหวังว่าจะทำได้ 500 ข้อตกลงในสิ้นปี แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้ได้มีการวางแผนพัฒนาตลาดให้มีสภาพคล่องมากขึ้นแล้ว
"เราได้วางเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2553 เราจะต้องทำให้ตลาดมีปริมาณการซื้อขายไม่น้อยกว่า 650,000 ข้อตกลง มีสินค้าเกษตรที่เข้ามาซื้อขายไม่ต่ำกว่า 9 ชนิด" นายชัยพัฒน์กล่าว
นายชัยพัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เจตนารมณ์หลักของการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าคือเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรในระยะยาว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการ ก.ส.ล. จึงได้วางแผนที่เน้นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร รวมถึงสถาบันการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับข้อมูลการซื้อขายล่วงหน้า และสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้ โดยทางสำนักงานมีโครงการสร้างผู้เผยแพร่ความรู้ด้านการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าประจำอำเภอ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะจัดให้มีผู้เผยแพร่ในอำเภอที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่มีการซื้อขายในตลาดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่จะสร้างเครือข่ายและส่งเสริมให้ตลาดเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ด้วยการขยายเครือข่ายพันธมิตรกับตลาดซื้อขายล่วงหน้า และองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาด และกำกับดูแลตลาดให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลยิ่งขึ้น นายชัยพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2685-3250 ต่อ 207
โทรสาร 0-2685-3259 หรือ
http://www.aftc.or.th--จบ--