ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศสมัยใหม่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมิติของภาคสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีจัดทำแผนแม่บทพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การให้บริการประชาชน ซึ่งจะสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
การขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่กำหนดไว้
เพื่อเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรรมการผลิต การบริการ เป็นการสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นการปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงานและ
การให้บริการของภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส
มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอีกด้วย
"กิจการสื่อสารของประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนากรมไปรษณีย์ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีผู้สำเร็จราชการ ทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจการสื่อสารของไทยพัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ กระทั่งรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา สำหรับในปีนี้กระทรวงไอซีทีได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานด้วยการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงหมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2560 การปฏิรูปภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนด้านอื่น ๆ ที่จะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องต่อไป" ดร.อุตตม กล่าวในที่สุด