ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ถือเป็นอีกหนึ่งปูชนียบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตคณบดีและผู้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มธ. ที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่สถาบันและอุทิศตนเพื่อการทำงานให้ประเทศชาติในหลากหลายด้าน ทั้ง "ด้านการศึกษา"ในฐานะผู้วางรากฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้วยหลักสูตรวิชาพื้นฐานทั่วไปให้กับ มธ. จนกระทั่งได้รับการยอมรับและเป็นต้นแบบวางหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ของไทยอย่างแพร่หลาย "ด้านสิ่งแวดล้อม" ด้วยการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปี 2517 ที่เสนอให้รวมแผนการพัฒนาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้าไปไว้ในนโยบายของรัฐ และมีส่วนผลักดันให้อุทยานแห่งชาติของไทยให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและ "ด้านอนุรักษ์อารยธรรมให้เป็นมรดกโลก" ในฐานะหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และอดีตคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ ผู้มีส่วนผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติไทยให้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรำลึกและเชิดชูเกียรติ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานอาจารย์อดุล ผู้มีคุณูปการสำคัญยิ่งต่อทั้งวงการการศึกษาไทยและมรดกโลกในโอกาสครบรอบ 90 ปีของอาจารย์อดุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับ คณะกรรมการดำเนินงาน 90 ปี ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ จัดสร้าง "นิทรรศการชีวิตและงานของ ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ" ซึ่งภายในประกอบด้วยการจัดแสดงใน 2 ส่วน ได้แก่
· ส่วนที่หนึ่ง การจัดแสดงผลงาน และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิตการศึกษาและการทำงานของอาจารย์อดุล บริเวณด้านหน้าของนิทรรศการ โดยจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของอาจารย์อดุล ผ่านการเติบโตของต้นไม้แห่งความทรงจำ "ต้นยูงทอง เคียงคู่ไปกับการฉายคลิปวิดีโอของบรรดาบุตร ลูกศิษย์ลูกหา รวมถึงบุคคลที่เคยร่วมงาน ที่มาร่วมถ่ายทอดความประทับใจที่มีต่ออาจารย์อดุลย์ในหลากมุมมองทั้งงานทรงดนตรีในความทรงจำ ศิลปศาสตร์ในความทรงจำ ในความทรงจำของครูและศิษย์ และมรดกโลก...มรดกใคร เป็นต้น
· ส่วนที่สอง มีการจัดเป็นห้องคลังความรู้ของอาจารย์อดุล ตามแบบฉบับห้องสมุดส่วนตัวของอาจารย์อดุลจากบ้านป่าตะโก จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายในได้รวบรวมหนังสือสะสมของอาจารย์อดุลไว้นับพันเล่ม พร้อมทั้งมีโซนจัดแสดงผลงานศิลปะ ภาพถ่ายและสิ่งสะสมต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจความเป็นตัวตนของอาจารย์อดุลให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากผลงานที่ปรากฏต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการจัดสร้างนิทรรศการดังกล่าวแล้ว ทางคณะดำเนินงานฯ ยังได้เตรียมการจัดทำหนังสือ "90ปี อดุล วิเชียรเจริญ ชีวิตและงาน" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานของอาจารย์อดุล นับแต่กำเนิดจนถึงปัจจุบันซึ่งเรียบเรียงโดย อาจารย์กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ และเรื่อง "ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญกับหลักสูตรวิชาพื้นฐานศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนี ละอองศรี นางสาววารุณี โอสถารมย์ และนายอังคาร จันทร์เมือง รวมไปถึงการจัดงานเสวนาปฏิรูปการอุดมศึกษา ในหัวข้อ "เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย : ย้อนอดีต มองอนาคต" ผ่านมุมมองผู้บริหารแห่งวงการการศึกษาและการเมืองไทย อาทิ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี คุณกล้านรงค์ จันทิก หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล และ รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. ในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2559 เวลา 13.00-15.00น. ณ ห้องศิลปศาสตร์ 202 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าว
ทั้งนี้ พิธีเปิดห้องนิทรรศการ "ชีวิตและงานของศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ" มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2559 เวลา 17.00 น. โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องนิทรรศการดังกล่าว ณ ชั้น U2 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-613-3030 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.pr.tu.ac.th/adul.html