ประวิทย์ – สุภิญญาเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะการปรับปรุงร่าง พรบ. กสทช. ใน 5 ประเด็นสำคัญ

อังคาร ๐๖ กันยายน ๒๐๑๖ ๐๙:๑๖
เวบไซต์ www.nbtcrights.com (http://nbtcrights.com/2016/09/6787) ได้เผยแพร่หนังสือฉบับที่ ทช 1003.09/31834 วันที่ 22 ส.ค. 59 ของ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง ความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งเป็นข้อสรุปและเนื้อหาสาระสำคัญที่ได้จากการจัดเวทีสาธารณะ NBTC Public Forum ครั้งที่ 2/2559 หัวข้อ "มุมมองภาคประชาชนต่อแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กสทช." เมื่อวันพุธที่27 ก.ค. 59 มี 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

ประเด็นแรก การกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาฯ มาจากหน่วยงานของรัฐทั้งหมด จึงทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดการสรรหากรรมการ กสทช. ผ่านองค์กรที่มาจากภาคประชาชนโดยตรง เช่นเดียวกับเจตนารมณ์ที่ปรากฏในกฎหมายฉบับปี 2543 และฉบับปี 2553 ดังนั้นจึงสมควรกำหนดให้มีองค์กรที่มาจากประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการสรรหากรรมการ กสทช.

ประเด็นสอง ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ได้มีการยกเลิก "คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน" ซุปเปอร์บอร์ด หรือ กตป. โดยกำหนดให้มี "คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน" โดยเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ในสาระสำคัญ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการยกเลิกระบบการตรวจสอบภายนอกโดยสิ้นเชิง และปรับเปลี่ยนให้เป็นเพียงหน่วยตรวจสอบภายใน ขององค์กร เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำกับบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. และแจ้งผลดังกล่าวให้ กสทช.ทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามที่ กสทช. เห็นสมควร จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีกับกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล การดำเนินงานของ กสทช. โดยรวม นอกจากนี้ การกำหนดให้มีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) และผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เข้าร่วมเป็นกรรมการกำกับ การประเมินผลการปฏิบัติงานจึงเป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. ในภายหลัง เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบการดำเนินงานหน่วยงานของรัฐ รวมถึง กสทช. อยู่แล้ว หากการทำหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายปรากฏว่าขัดหรือแย้งกับมติหรือความเห็น ของผู้แทนหน่วยงานตนเอง ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทับซ้อนในการดำเนินการ

ประเด็นสาม การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในร่างฯฉบับใหม่ ได้มีการกำหนดสาระเพิ่มเติม "...แต่ในกรณีที่เป็นการประกอบกิจการทางธุรกิจที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การคัดเลือกให้ทำโดยวิธีการประมูลแต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้" นั้น เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในลักษณะดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการพิจารณาอนุญาตและการแข่งขันเข้าสู่ตลาด เนื่องจากเป็นการทำลายหลักการสำคัญที่กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลสำหรับกิจการทางธุรกิจ อีกทั้งในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่อมสามารถกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับได้อยู่แล้ว เช่น การประมูลทีวีดิจิทัลที่ผ่านมามีการแบ่งช่องรายการในหลายประเภท เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านต่างๆ จึงเห็นควรให้ตัดสาระในส่วนนี้ออก

รวมทั้งประเด็นที่ว่าหากต้องกำหนดให้มีการชดเชยเยียวยาการเรียกคืนคลื่นเพื่อสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ควรมีเพียงกรณีเดียว คือ เป็นกรณีที่ผู้ใช้คลื่นความถี่ได้สิทธิในการใช้คลื่นความถี่มาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น เพราะกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 82 มาตรา 83 ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ฉบับปัจจุบัน มีความชัดเจนเพียงพอแล้ว การกำหนดเพิ่มเติมในลักษณะดังกล่าวอาจกระทบกับกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่และสร้างภาระให้กับรัฐในการเรียกคืนคลื่นความถี่โดยไม่จำเป็น เนื่องจากหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่ในระบบเดิมทั้งหมดเป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งมิได้มีสถานะเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ดังกล่าว

ประเด็นสี่ การแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนให้สามารถนำเงินของกองทุนไปลงทุนได้ ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีการดำเนินการในลักษณะที่ขัดต่อหลักการในการจัดเก็บเงินจาก ผู้ประกอบกิจการ เพื่อนำมาส่งเสริมและพัฒนากิจการอันเป็นที่มาของรายได้ อีกทั้งรายได้ของกองทุนซึ่งถูกปรับแก้กฎหมาย ให้ผ่องถ่ายไปยังหน่วยงานของรัฐอื่นแล้วย่อมมีเงินไม่มาก จึงควรกำหนดให้นำเงินกองทุนไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เดิมเท่านั้น ไม่ควรมีการนำเงินกองทุนไปลงทุนเพื่อแสวงหารายได้ได้

ประเด็นห้า การบริหารจัดการภายในของสำนักงาน กสทช. และเป็นอำนาจของ กสทช. ในการกำหนดโครงสร้างการบริหารงานบุคคลตามมาตรา 46 ซึ่งสะท้อนว่าเป็นเพียงการประกันประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะบัญญัติไว้เป็นกฎหมายเช่นนี้และเห็นควรให้ตัดสาระในส่วนนี้ออก

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับคณะรัฐมนตรีเสนอนั้น อยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขในขั้นตอนของคณะกรรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ สนช. นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ