นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวจัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และในผู้สูงอายุ ทั้งทั่วโลกและประเทศไทย จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ซึ่งทั่วโลกในปี พ.ศ. 2543 พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั้งหมด 256,000 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 209,000 ราย ส่วนในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้อยู่ใน 10 ลำดับโรคมะเร็งพบบ่อยทั้งในเพศหญิง (3,437 ราย) และในเพศชาย (4,205 ราย)
ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งได้ก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ ซึ่งประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้อัตรา 0.5-1 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยประมาณร้อยละ90 อยู่ในช่วงอายุ19-50 ปี การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์นั้นแต่เดิมใช้การรักษาโดยใช้เคมีบำบัด interferon และการปลูกถ่ายไขกระดูก ในปัจจุบันมีการค้นพบวิธีการรักษาที่มีกลุ่มยามุ่งเป้า(Targeted therapy)ซึ่งใช้รักษาโรคได้เป็นอย่างดีทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และมีชีวิตที่ยืนยาว แต่เนื่องจากข้อแตกต่างเฉพาะบุคคลของผู้ป่วยแต่ละรายทำให้ผลการรักษาและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยไม่เหมือนกัน จึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อติดตามผลการรักษาและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ผู้รักษานำผลตรวจที่ได้มาใช้วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
ทั้งนี้ยังมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามผลการรักษาด้วยยามะเร็ง เนื่องจากการตรวจดังกล่าวยังไม่ได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนำร่องการให้บริการตรวจ BCR-ABL mRNA เพื่อติดตามการรักษาด้วยยามะเร็ง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ ภายใต้สิทธิประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการติดตามการรักษาด้วยยามะเร็ง ส่วนบริษัทฯจะสนับสนุนชุดตรวจการรักษาด้วยยามะเร็งสำหรับผู้ป่วย 500 ราย มีระยะเวลาในการดำเนินงานร่วมกัน 1 ปี โดยจะเริ่มโครงการในเดือนธันวาคม 2559 นี้และพิจารณาต่ออายุโครงการรายปี
"ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้คือ ผู้ป่วยที่รับยารักษามะเร็งรุ่นที่ 1 แล้วเป็นเวลา 18 เดือน และจะต้องได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลต้นสังกัดโดยแพทย์ผู้ให้การรักษา จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามผลการรักษาเพื่อพิจารณาปรับหรือเปลี่ยนยารักษามะเร็ง ซึ่งผลการตรวจดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการพัฒนาวิธีตรวจติดตามการรักษามะเร็ง เพื่อลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศที่มีราคาแพงอีกด้วย"นายแพทย์อภิชัยกล่าวในตอนท้าย