นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในฐานะที่กรมประมง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสัตว์น้ำ และปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการและวิทยาการของ CITES ด้านสัตว์น้ำของประเทศไทย ได้ตระหนักในความห่วงใยของคณะกรรมาธิการด้านสัตว์ และคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาCITES จากผลการทบทวนสถานภาพการค้าสัตว์ในบัญชี 2 ของอนุสัญญา เพื่อการปรับปรุงการจัดการด้านการค้าให้มีความยั่งยืน ผลการทบทวนชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกม้าน้ำมากที่สุด การค้าม้าน้ำของไทยจึงถูกจัดอยู่ในระดับน่าห่วงใยอย่างเร่งด่วน (Urgent Concern) โดยเฉพาะม้าน้ำ 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำยักษ์ ม้าน้ำหนาม
ทำให้กรมประมงต้องทำการศึกษาข้อมูลชีววิทยา แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ม้าน้ำ แหล่งที่มีประชากรหนาแน่นในธรรมชาติ ด้วยการส่งเรือสำรวจแหล่งของกรมประมงทำการสำรวจประชากรม้าน้ำในอ่าวไทยและอันดามัน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล จนกระทั่งทราบชนิดของม้าน้ำที่แพร่กระจายในน่านน้ำไทย และสามารถคำนวณปริมาณม้าน้ำในธรรมชาติของไทยได้
และจากการทำการศึกษาวิจัยร่วมระหว่างกรมประมงกับมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลแหล่งแพร่กระจายพันธุ์หนาแน่นของม้าน้ำ และชีววิทยาของม้าน้ำบางประการ เป็นฐานข้อมูลที่มาของการเลือกพื้นที่ทีใช้ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด
นอกเหนือจากความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยร่วมบูรณาการจัดกิจกรรมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการจัดกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรม้าน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล 2 แห่ง คือ ที่หาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราดแล้ว กรมประมงยังมีโครงการเพาะพันธุ์ม้าน้ำปีละ 100,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่แหล่งอาศัยเดิมตามธรรมชาติ ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยแยกการปล่อยชนิดพันธุ์ตามแหล่งอาศัยเดิมของม้าน้ำแต่ละสายพันธุ์ ร่วมกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชน รวมทั้ง ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการทรัพยากรม้าน้ำ ให้ครอบคลุมทุกด้านประกอบด้วย
(1)การวิจัยและศึกษาทางวิชาการประมง อาทิ การศึกษา สำรวจติดตามปริมาณม้าน้ำในประเทศไทย แหล่งกระจายพันธุ์ และความหลากหลายของม้าน้ำและการพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอ เพื่อใช้บริหารจัดการตามอนุสัญญา CITES
(2)การออกมาตร ที่มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรม้าน้ำ ทั้งมาตรการทางตรงและมาตรการทางอ้อม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา ภายใต้พระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่นี้ ให้คุณค่าสัตว์น้ำในฐานะทรัพยากรที่ต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงได้มีมาตรการควบคุมจำนวนเรือประมงพาณิชย์ จำนวนเครื่องมือ และขนาดตาอวนทำการประมงให้สมดุลกับปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติ มีมาตรการห้ามทำการประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของม้าน้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อน มาตรการดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำฟื้นตัวอย่างสมดุล รวมทั้ง ม้าน้ำที่อาจติดมากับสัตว์น้ำอื่นๆที่ได้จากการทำประมง
แม้ว่าในประเทศไทย ไม่มีการประกอบอาชีพจับม้าน้ำโดยตรง เนื่องจาก ไทยไม่อนุญาตให้ส่งออกปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิตไปต่างประเทศ ซึ่งม้าน้ำก็เป็นปลาทะเลสวยงามที่ห้ามส่งออกด้วยเช่นกัน แต่ม้าน้ำที่ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในประเทศเป็นการจับได้โดยที่ชาวประมงไม่ได้ตั้งใจที่จะจับม้าน้ำโดยตรง แต่ชาวประมงลงอวน หรือเครื่องมือประมง ก็จะติดม้าน้ำมาด้วย ซึ่งเรียกว่า "จับโดยไม่ได้ตั้งใจ (by catch)" ดังนั้น เมื่อการทำประมง ลดจำนวนลงอย่างสมดุล ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้ง ม้าน้ำ ก็ได้รับการฟื้นฟูไปด้วย
จากข้อมูลผลการศึกษาด้านประชากรม้าน้ำพบว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจำนวนม้าน้ำในธรรมชาติมากกว่าปัจจัยด้านคุณภาพของแหล่งที่อยู่อาศัย ดังนี้ การอนุรักษ์ม้าน้ำจึงต้องหันมาจัดการกับพฤติกรรมของมนุษย์และปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ นอกเหนือจากการปกป้องดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสนับสนุนให้ชาวประมงปล่อยม้าน้ำสู่ทะเล หรือเลือกจับเฉพาะม้าน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร เพื่อให้ม้าน้ำมีโอกาสคลอดลูกอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนถูกนำมาใช้ประโยชน์
เพื่อสนับสนุนผลการศึกษาดังกล่าวกรมประมงจึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวประมง ทุกภาคส่วน "ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูม้าน้ำได้ด้วยมือเรา" ด้วยการร่วมรณรงค์ ปล่อยม้าน้ำมีชีวิตที่ติดเครื่องมือประมง ไม่ทำการประมงในเขตอนุรักษ์ แนวปะการัง และหญ้าทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่ของม้าน้ำ รวมถึงไม่จับม้าน้ำที่ตั้งท้องขึ้นมาใช้ประโยชน์ ความอุดมสมบูรณ์ของม้าน้ำจะกลับสู่ทะเลไทยอีกครั้ง ด้วยมือเรา
กรมประมง คาดหวังว่าในวันเปิดโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังที่ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันในวันนี้ จะยืนยันในเจตนารมณ์ของประเทศไทยว่า เราไม่ได้ละเลยต่อปัญหาการลดลงของม้าน้ำ และมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง