อย่างไรก็ตาม นโยบายเรื่อง Open Data ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยดำเนินการพร้อมกับหลายประเทศในเอเชีย ดังนั้น ในปีนี้ประเทศไทยจะเร่งสร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรมโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับชุดข้อมูลแบบเปิดร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ และการเป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อมุ่งเป้าในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตั้งแต่การ Transformation หรือการเข้าสู่กระบวนการสร้าง Open Data ให้สำเร็จ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี และทักษะความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญในระดับบุคคล ซึ่งจะทำให้เกิด Ecosystem หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสังคมแบบเปิด
ล่าสุด ICT และ EGA ได้จัดงานสัมมนาระหว่างประเทศและงานประชุมเชิงปฏิบัติการ Asia Pacific Open Data Summit 2016 & PRAGMA31 ขึ้นในประเทศไทย นับเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ได้สร้างแรงบันดาลใจจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Open Data ที่ได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนแนวคิด การพัฒนา และสร้างนวัตกรรมด้าน Open Data อีกทั้งยังทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายผู้สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล และการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนต่อไป
นอกจากนี้ EGA ยังมีโครงการสร้างชุมชนผู้ใช้ข้อมูล โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา 5 ด้าน คือ ด้านสาธารณะสุข ด้านความโปร่งใสภาครัฐ ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ด้านการพัฒนาเมืองและขนส่ง และด้านการเกษตร และจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกลุ่มย่อย (Focus Group) รวมถึงรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (Public Hearing) จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เกี่ยวกับทั้ง 5 ด้านดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนและตรงใจผู้ใช้ข้อมูล รวมไปถึงการจัดกิจกรรม Open Data Hackathon ซึ่งเป็นการแข่งขันนำเสนอแนวคิดและการพัฒนาแอปพลิเคชันต้นแบบและนำข้อมูลเปิดภาครัฐเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้ โดยในปีนี้ นอกเหนือจากการจัดการแข่งขันภายในประเทศเพื่อส่งเสริมให้นำข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์และยังสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินงานในรูปแบบของ Cross Countries Hackathon ซึ่งประกวดพร้อมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย และคัดเลือกผู้ชนะเลิศในแต่ละประเทศแยกจากกัน
สำหรับทีมชนะเลิศของประเทศไทย หรือ Invincible Hackers คือ ทีม "Prowide" ซึ่งใช้แนวคิดการนำข้อมูลเปิดด้านการเกษตรของไทยมาจัดทำแอปพลิเคชันต้นแบบทางด้านการจัดการสวนให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถนำผลิตผลการเกษตรส่งถึงมือผู้บริโภคที่มีความต้องการตรงกัน ส่วนทีมรองชนะเลิศ หรือ Best Hackers คือ ทีม "Farmer is here" ที่นำข้อมูลทางด้านการเกษตรมาสร้างแนวคิด การจัดทำช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแนวใหม่ รวมถึงการสร้างกิจกรรมหรือ Event ทางด้านเกษตร และอื่นๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผู้ผลิตที่มีคุณภาพที่อยู่ใกล้ที่สุด
นอกจากการดำเนินการใน 5 ด้านดังกล่าวแล้ว ICT และ EGA ยังวางแผนที่จะขยายผลในด้านอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดชุดข้อมูลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลและนำไปพัฒนานวัตกรรมอันจะช่วยสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า นอกจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia Pacific Open Data Summit 2016 & PRAGMA31 ซึ่งถือเป็นการรวบรวมประสบการณ์ Open Data ของหลากหลายประเทศ เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงต่อไปแล้ว EGA จะเร่งสร้างเครือข่าย Open Data ในระดับประเทศให้เกิดขึ้นจริง โดยหวังที่จะเกิดแอปพลิเคชันต้นแบบและมีแนวทางการพัฒนาและใช้งานร่วมกันในระดับนานาชาติต่อไป