สู่ความเป็นโรงพยาบาลเทพธารินทร์
ช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ เข้ารับการฝึกอบรมด้านต่อมไร้ท่อที่ โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วูแมน (Brigham and Women Hospital) ของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมที่ศูนย์เบาหวานจอสลิน (Joslin Diabetes Center) ซึ่งเป็นสถาบันสอนและสถานที่รักษาโรคเบาหวานที่ทั่วโลกยอมรับ เพราะมีบรรยากาศดี มีความพร้อมในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน เน้นการให้ความรู้ผู้ป่วย รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในเวลานั้นนายแพทย์หนุ่ม เทพ หิมะทองคำ ตั้งใจไว้ว่าวันหนึ่งประเทศไทยต้องมีสิ่งดีๆ แบบเกิดขึ้น นั้นคือปณิธานและสิ่งมุ่งมั่นของศาสตราจารย์นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 "เทพธารินทร์ ศูนย์เบาหวานและไทรอยด์" ได้ถือกำเนิดขึ้นบนย่านถนนพระรามที่ 4 โดยเปิดตัวเป็นคลินิกเฉพาะทางเบาหวานและไทรอยด์ มีเตียงให้ผู้ป่วยได้พักค้างคืนจำนวน 8 เตียง จุดมุ่งหมายในการทำงานมี 3 ประการด้วยกัน คือ การให้บริการที่ดี การให้ความรู้ทั้งกับผู้เป็นเบาหวานและบุคลากร และการวิจัย ซึ่งทีมดูแลผู้ป่วยเป็นเบาหวานทีมแรกของประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นที่นี่ "ทีม" ในเวลานั้นประกอบด้วย
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน
- พยาบาลผู้ทำหน้าที่ในการสอนผู้ป่วยเป็นเบาหวาน
- นักกำหนดอาหารผู้รับหน้าที่สอนผู้ป่วยเรื่องอาหาร
ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้พัฒนาต่อเป็นโรงพยาบาลเทพธารินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการดูแลรักษาโรคเบาหวานที่ถูกวิธี ตามหลักวิชาการ และครบวงจร เน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เน้นการป้องกันโรค ไม่ใช่แค่รักษาโรคเพียงอย่างเดียว พยายามให้ความรู้ และรณรงค์ให้คนทั่วไปออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เน้นดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยบุคลากรจากสหสาขา เนื่องจากศาสตราจารย์นายแพทย์เทพให้ความสำคัญเรื่องการรับประทานอย่างถูกต้อง ท่านจึงได้รับนักกำหนดอาหารที่จบการฝึกอบรมจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทำงานในโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่มีนักกำหนดอาหาร และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั่งจนถึงทุกวันนี้ศาสตราจารย์นายแพทย์เทพ ได้พัฒนาองค์ความรู้ต่างๆมากมายซึ่ง มีประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและบุคลากร ทำให้โรงพยาบาลเทพธารินทร์ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านรักษาโรคเบาหวานแล้ว ยังเป็นศูนย์ไทรอยด์แห่งแรกของประเทศไทยด้วย ซึ่งให้บริการวินิจฉัยและรักษาแบบครบวงจร ทั้งยังเป็นสถานที่ดูแลและฝึกอบรมของบุคลากรการแพทย์จากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
โรงพยาบาลเทพธารินทร์ยึดมั่นในแนวคิด "สมดุลชีวี…ด้วยวิถีพอเพียง"
โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีระบบการบริหารงานไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เพราะ มีจุดกำเนิดจากความต้องการเติมช่องว่างในสังคมซึ่งขณะนั้นยังขาดการดูแลเบาหวานแบบทีมสหสาขาและเน้นการสอนและส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง ที่โรงพยาบาลแห่งนี้บริหารงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง และยังคงบริหารงานโดยผู้ถือหุ้นเดิมที่เริ่มก่อตั้ง ไม่ได้มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุด แต่เน้นการสร้างความเชี่ยวชาญของแพทย์และทีมงาน และเรื่องของการดูแลแบบชนิดครบวงจร Holistic care เพื่อเป็นต้นแบบการดูแลผู้ป่วยที่ยังเป็นช่องว่างในสังคม ทีมผู้บริหารพยายามที่จะให้คนไข้ได้สิ่งที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสมที่สุด และเพราะการบริหารงานตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีประสิทธิภาพนี่เองทำให้โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรณีศึกษาและเรื่องราวถูกหยิบยกตีพิมพ์ในงานนวิจัยและตำราด้านการบริหารธุรกิจระดับนานาชาติซึ่งพยายามนำเสนอรูปแบบการบริหารที่จะนำสู่ความยั่งยืนของทั้งองค์กรและสังคมไปควบคู่กัน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของโรงพยาบาล
สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ทางด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร
วัฒนธรรมของทางโรงพยาบาลคือ Ethics ไล่ลงมาในรายละเอียด E-for Excellence, T for Teamwork, H for Hospitality, I for Integrity, C for Continuous Improvement และ S for Social Responsibility เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร ทางทีมผู้บริหารโรงพยาบาลจะนึกถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นอันดับแรก จะทำอะไรก็ตามจะนึกถึงประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก Multidiscipline คือสหสาขาวิชาชีพในการดูแลเบาหวาน เริ่มต้นที่นี่ ตัวอย่างที่สำคัญมาก คือเรื่องของนักกำหนดอาหาร (Dietitian) ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่สำหรับประเทศไทย เดิมทีนั้นประเทศไทยมีการพัฒนาบุคลากรและงานด้านโภชนาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาถึงการดูแลอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเฉพาะราย จึงเกิดความต้องการพัฒนาวิชาชีพนักกำหนดอาหารขึ้น วิชาชีพนี้คือผู้ที่มีความรู้ด้านอาหารเช่นเดียวกับนักโภชนาการ แต่มีความรู้ในเชิงคลินิก รู้จักโรค รู้จักระยะของโรค และทราบรายละเอียดของสารอาหารซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายต้องการในระยะต่างๆ พูดง่ายๆ คือสามารถใช้อาหารเป็นยาในการรักษาโรค ทำงานควบคู่ไปกับทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลคนไข้นั่นเอง โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลแรกที่มีความต้องการบริการของนักกำหนดอาหาร ซึ่งสมัยก่อนประเทศไทยยังไม่มีการผลิตสายวิชาชีพนี้ จึงใช้วิธีการพัฒนาวิชาชีพนี้ขึ้นเองโดยการเสริมความรู้ให้กับกลุ่มนักโภชนาการที่มีพื้นฐานเป็นพยาบาล ในขณะเดียวกันชักชวนให้มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของวิชาชีพนี้ และให้การสนับสนุนจนปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีหลักสูตรผลิตนักกำหนดอาหารขึ้นแล้ว และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ก็ให้การสนับสนุนวิชาชีพนี้ด้วยการเป็นอาจารย์และสถานที่ฝึกงานมาอย่างต่อเนื่อง
ผสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง
ถึงแม้ทางโรงพยาบาลจะดูแลคนไข้ดีขนาดไหนก็ตาม แต่เนื่องจากโรคทางด้าน Metabolic (เกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร) ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย ฉะนั้นเราจึงเน้นเรื่องการสอน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ แต่เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีการดำเนินไปเรื่อยๆ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ยาก โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานก็ยังคงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต หรือแผลเรื้อรังที่เท้า เรื่องการดูแลเท้านับว่าไม่เคยมีมาก่อนเลยในเมืองไทย ทางทีมเทพธารินทร์ได้พยายามค้นหาความรู้ใหม่ๆ และทดลองนำมาใช้ จนกระทั่งคนไข้ไม่ต้องถูกตัดขา ทำให้ทางโรงพยาบาลเริ่มขยายงานออกสู่ภายนอกด้วยการสอน โดยร่วมกับทาง สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากสิ่งใหม่ๆ ที่เทพธารินทร์เริ่มต้นด้วย ผลตอบรับที่ออกมาก็คือ สถิติการตัดขาในประเทศไทยลดไปแล้ว 80% เพราะฉะนั้นเรื่องของการตัดขาก็ดีขึ้นและเริ่มเห็นผลแล้ว โรคเบาหวานนั้นส่วนใหญ่ไม่จบเพียงเบาหวานแต่ยังพัวพันไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ในปีนี้ทางโรงพยาบาลจะเน้นเรื่องของหัวใจ ซึ่งเป็นคีย์ใหญ่มาก แต่เนื่องจากนโยบายการบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่รู้กันคือ ไม่มุ่งกำไรสูงสุด ในขณะที่คุณภาพการรักษามีคุณภาพสูงสุด ส่วนนี้เองที่ดึงดูดให้นายแพทย์ผู้เชียวชาญด้านหัวใจซึ่งมีแนวคิดเดียวกัน รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม ได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดตั้ง iCATH Cardio Metabolic Center เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย
ผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาทิ ของทอด ของมัน ของหวาน ซึ่งรับประทานแล้วไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง รวมถึงการใช้ชีวิตของคนในสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป เป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทางด้านกรรมพันธุ์ก็มีส่วนทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเช่นกัน
สำหรับความร่วมมือระหว่างแพทย์โรงพยาบาทเทพธารินทร์ และแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งนำทีมโดย รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม ในการดูแลรักษา กลุ่มโรคต่อมไร้ท่อโดยเฉพาะเบาหวานและโรคหัวใจซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก นี่จัดเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาแบบบูรณาการ เพราะได้แพทย์ที่มีประสบการณ์ในโรคหัวใจและหลอดเลือดมายาวนานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่เริ่มวิชาชีพแพทย์คุณหมอได้ตั้งปณิธานไว้ว่า "ดูแลคนไข้เหมือนเป็นญาติของเราและตรวจรักษาให้ดีที่สุดให้เหมาะกับอาการของคนไข้"
ความในใจและเหตุผลของ รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม ต่อความร่วมมือที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์
"ผมมีแนวความคิดและแนวทางเดียวกันกับผู้บริหารโรงพยาบาลเทพธารินทร์ครับ คือ เน้นในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และคืนประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับแนวคิดของผมมากที่ต้องการจะมีศูนย์รักษาผู้ป่วยที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีเทคโนโลยีครบถ้วน ในขณะเดียวกันค่ารักษาไม่ได้สูงเกินไป ประกอบกับเรามี การคืนประโยชน์ให้สังคมโดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ "เทพศิริ" ซึ่งมี อ.นพ. ชลิต เชียรวิชัย เป็นประธาน ซึ่งท่านเป็นศัลยแพทย์ด้านโรคทรวงอก เป็นมูลนิธิเกี่ยวกับโรคหัวใจเพื่อผู้ป่วยที่ขาดทุนทรัพย์และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยรายได้ส่วนหนึ่งของ iCATH Cardio Metabolic Center จะนำไปสมทบทุนกับทางมูลนิธิ "เทพศิริ"ครับ
จุดเด่นของ iCATH Cardio Metabolic Center
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จุดเด่นของศูนย์แห่งนี้คือการนำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาใช้ในการรักษาคนไข้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด รวมถึงในเรื่องของการป้องกันโรค เน้นถึงการให้ความรู้ด้านสุขศึกษา คือ ให้ความรู้ทั้งผู้ป่วยและญาติในด้านต่างๆ เพื่อการป้องกัน ไม่ใช่รักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเน้นในเรื่องควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต สำหรับด้านอุปกรณ์รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจโรคหัวใจและหลอดเลือดมีการนำเครื่องมือรุ่นใหม่ล่าสุดมาใช้เพื่อการรัษา โดยใช้งบประมาณในการทำศูนย์แห่งนี้ประมาณ 100 ล้าน (หนึ่งร้อยล้านบาท) ซึ่งรวมถึงการตกแต่งสถานที่ทุกอย่าง โดยพื้นที่ใช้สอยของ iCATH Cardio Metabolic Center อยู่อาคารด้านหน้าของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ มีทั้งห้องผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือห้อง CCU ห้องตรวจสวนหัวใจคนไข้ที่เรียกกันว่าห้อง cath หรือห้อง Cardiac Catheterization Laboratory ใช้ในการสวนหัวใจทำบอลลูน และห้องผ่าตัดด้านหัวใจและหลอดเลือด รวมถึง OPD ห้องตรวจคนไข้นอกด้านโรคหัวใจ ชั้น 2 เป็นพื้นที่ตรวจทางด้านผู้ป่วยนอก และ non- invasive investigation คือการตรวจหัวใจทางด้านต่างๆ ตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ การเดินสายพาน เป็นต้น ส่วนชั้น 6 จะเป็นห้อง ccu ผู้ป่วยหนักโรคหัวใจ ห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจ นอกจากความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์แล้ว ที่นี่ยังนี้เพียบพร้อมไปด้วยทีมแพทย์ที่มาดูแลมากกว่า 10 ท่าน บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการให้บริการที่ดีอีกด้วย
ความมุ่งมั่นของทีมแพทย์และบุคคากร เพื่อศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
ทีมแพทย์ที่มาร่วมงานกับ iCATH Cardio Metabolic Center เป็นทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้มาหลายปี เน้นการรักษาที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานและเป็นประโยชน์ต่อคนไข้มากที่สุด ประกอบกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลที่เปิดมานาน มีชื่อเสียงด้านการรักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแล้วมาเป็นโรคหัวใจมีอยู่มาก ซึ่งที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ยังไม่มีศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดของตัวเอง จึงได้มีการปรึกษาเพื่อหาแนวทางดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด คนไข้ได้รับการรักษาดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด รวมถึงปรัชญาในการทำงานที่ตรงกันด้วย จึงเกิด" iCATH Cardio Metabolic Center" ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้
นับเป็นก้าวสำคัญของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ในการเพิ่มศักยภาพการรักษาที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพเป็นไปตามปณิธานและความมุ่งมั่นของโรงพยาบาลเทพธารินทร์