รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นักวิชาการจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กรคนพิการ และกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่เตรียมความพร้อมเตรียมปรับปรุงพื้นที่สวนลุมพินี ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคนในสังคม เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามแผนการดำเนินงานในระยะที่ 1 เพื่อให้เป็นต้นแบบของสวนสาธารณะที่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก สตรี และทุกคนในสังคม เข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานความร่วมมือ และสนับสนุนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและทุกคนในสังคม (Universal Design) ในพื้นที่ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าสวนลุมฯจะมีการปรับปรุงและพัฒนามาแล้ว อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมในสวนลุมฯ ยังไม่ตรงตามมาตรฐานการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และอุปกรณ์บางส่วนชำรุดและเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานและพัฒนาเพื่อให้ประชาชน ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ สะดวก ปลอดภัย ทั่วถึง เท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว จึงเร่งขับเคลื่อนการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกตามโครงการปรับปรุงพื้นที่สวนลุมพินีให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ในพื้นที่สวนลุมฯ โดยแผนการดำเนินงานในระยะแรกให้มีการปรับปรุงพื้นที่ที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้ว บริเวณลานตะวันยิ้ม และบริเวณใกล้เคียง เป็นพื้นที่นำร่อง โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ส่วนแผนระยะยาวนั้น
ให้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสวนลุมฯ อาทิ ห้องสุขา ทางลาดสำหรับรถเข็นผู้พิการ ราวกันตก ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบริการแก่ผู้พิการทางสายตา ซึ่งตั้งเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี โดยใช้งบประมาณจากการบูรณาการของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กทม. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวอีกว่า จากที่มีการประชุมหารือในเรื่องแนวทางการปรับปรุงพื้นที่สวนลุมพินี ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ซึ่งตนเป็นประธานการในประชุมฯ ดังกล่าว โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันในหลักการปรับปรุงพื้นที่สวนลุมฯ ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคน เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สวนลุมฯระยะที่ 1 กำหนดให้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานตะวันยิ้ม ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เช่น ห้องน้ำ ทางลาด ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ บริการข้อมูล และปรับปรุงทางเดินเท้าเชื่อมโยงการเดินทางจาก ป้ายหยุดรถประจำทาง สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT จากประตูทางเข้าหลักทั้ง 3 ด้าน และป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบอกทาง ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะต้นแบบที่คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคน เข้าถึง
และใช้ประโยชน์ได้
"ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมหารือบูรณาการแผนงานการปรับปรุงพื้นที่สวนลุมฯ ร่วมกัน จึงได้ร่วมลงพื้นที่จริง ในวันนี้ นับเป็นการบูรณาการงบประมาณร่วมกันระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สวนลุมฯ เป็นต้นแบบ ของสวนสาธารณะสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคน ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและทั่วประเทศต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย