นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เผยว่า ตามที่รัฐบาล ได้กำหนดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศในเรื่อง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะเป็นกลไกของรัฐและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนของตนสู่ชุมชนเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง โดยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประชาชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งนี้ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tampon One Product: OTOP) เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายประชารัฐสานพลังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยอาศัยกลไกของคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในระดับอำเภอ (พัฒนาการอำเภอและ พัฒนากร) ทำหน้าที่ค้นหาปัญหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ OTOP ใน 5 ด้าน คือ 1) การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2) การบริหารจัดการ 3) องค์ความรู้ 4) การตลาด และ 5) การประชาสัมพันธ์และการรับรู้ เพื่อให้ OTOP เติบโตอย่างมีคุณภาพเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (PIM HR Excellence Center) สถาบันการศึกษาในสังกัดบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการประชารัฐพัฒนา "OTOP Potential Growth" จัดทำแนวทางหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาการอำเภอเพื่อเป็นพี่เลี้ยงพัฒนากร และฝึกอบรมพัฒนากรให้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ OTOP พร้อมจัดทำสื่อประกอบการฝึกอบรมในรูปแบบวิดิทัศน์ (Best Practice : OTOP) โดยทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรฝึกอบรม จำนวน ๒ หลักสูตร โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบ Action Learning และเรียนรู้จาก Best Practice คือ
(๑) หลักสูตรการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจ (Business Partnership for OTOP Potential Growth) สำหรับฝึกอบรมพัฒนาการอำเภอและหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างแนวคิดการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจกับผู้ประกอบการ OTOP และเป็นพี่เลี้ยงให้กับพัฒนากร เสริมแนวคิดในการเป็นหัวหน้าทีมที่ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนากร เนื้อหาวิชาการ มีเรื่องแนวคิดการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจ บทบาทการทำงานกับผู้ประกอบการ OTOP แบบพันธมิตรธุรกิจ การวิเคราะห์และถอดบทเรียนจาก Best Practice OTOP แนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการการตลาดและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การทำแผนธุรกิจ และทักษะการเป็นพี่เลี้ยงพัฒนากร เป้าหมายจำนวน ๙๕๔ คน ๑๑ รุ่น ๆ ละ ๓ วัน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศ
(๒) หลักสูตรการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ OTOP สำหรับฝึกอบรมพัฒนากร เพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจเพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP และความรู้การจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นยอดขายรายผลิตภัณฑ์ เนื้อหาวิชาการมีเรื่องบทบาทของพัฒนากรกับการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจ การ วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจ OTOP จากกรณีศึกษา Best Practice OTOP การทำแผนธุรกิจกระตุ้นยอดขาย และการเป็นที่ปรึกษา OTOP เป้าหมาย จำนวน ๓,๗๔๕ คน ๓๘ รุ่นๆ ละ ๓ วัน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศ
สำหรับความร่วมมือทางด้านวิชาการครั้งนี้ กรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น พัฒนาการอำเภอ/หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมฯ มีทักษะในการเป็นคู่คิดทางธุรกิจและสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้แก่พัฒนากร ส่วนพัฒนากรก็จะสามารถเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ OTOP ได้ และที่สำคัญที่สุดคือมีแผนพัฒนา OTOP ระดับ ๑-๓ ดาว ในความรับผิดชอบรายผลิตภัณฑ์ 1 รายการต่อหนึ่งคน เพื่อเพิ่มยอดขายตามแผน และใช้เป็นการฝึกปฏิบัติ (Action Learning) สำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงกรณีศึกษา (Best Practice) ของผลิตภัณฑ์ OTOP สามารถนำมาใช้ซ้ำเพื่อขยายผล เป็น E-learning & Knowledge Management (KM) องค์ความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน และในส่วนของความร่วมมือกับบริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมฯ ได้หารือเบื้องต้นเกี่ยวกับช่องทางการนำสินค้า OTOP จำหน่ายในร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในโอกาสต่อไป... อธิบดีฯ เผย