รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า โรคหัวใจยังคงเป็นภัยคุกคามสุขภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไทยในอันดับต้นๆ โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าในปี 2558 คนไทยทั่วประเทศเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวม 63,029 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเท่ากับ 96.33 ต่อประชากร 100,000 คน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 6,373 คน หรือเท่ากับอัตรา 111.92 ต่อประชากร 100,000 คน
ทั้งนี้มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากพบคนไทยกลุ่มที่มีอายุต่ำลงมีภาวะเสี่ยงและเป็นโรคหัวใจสูงขึ้นจากเดิมความเสี่ยงสูงจะอยู่ที่กลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดจากการปฎิบัติงาน ปัญหาการจราจร ขาดการออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม ที่สำคัญมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเลียนแบบชาติตะวันตก ซึ่งอุดมไปความหวาน มัน เค็ม มากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของโรคอ้วนลงพุง สาเหตุของโรคแทรกซ้อนจำพวกโรคไม่ติดต่อที่เรียกว่า NCDs (Non-communicable diseases) เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ
" สถิติการเป็นโรคหัวใจของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และพบในผู้ที่มีอายุต่ำลงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ป่วยเอง เพราะหากไม่เสียชีวิต ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะพิการจากโรคอัมพาตอัมพฤกษ์ เป็นภาระต่อครอบครัว กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จากค่ายา ค่ารักษา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ" รศ.นพ.ดิลก ระบุ
รศ.นพ.ดิลก ให้คำแนะนำว่า การป้องกันการเกิดโรคหัวใจทำได้ง่ายกว่าการรักษา และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีความสมดุลมากขึ้นทั้งการรับประทานอาหารที่มีความหวาน มัน เค็มให้น้อยลง ลดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เพื่อคัดกรองปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคในอนาคต
ส่วนคนไข้ที่มีอาการของโรคหัวใจควรดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด ทั้งการรับประทานยาและการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชียวชาญอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี รวมถึงห่างไกลพฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อโรค การดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง การออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากหากพบภาวะการเกิดโรคหัวใจในระยะแรกเริ่มก็มีโอกาสในการรักษาหายขาดได้ ในขณะที่ครอบครัวต้องมีความเข้าใจและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายก็อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือสภาพจิตใจผิดปกติจากความเจ็บป่วยดังกล่าวร่วมอยู่ด้วย
ทั้งนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีความห่วงใย และตระหนักถึงสถานการณ์โรคหัวใจของคนไทย จึงจัดกิจกรรม "วันหัวใจโลก ประจำปี 2559 " ในวันที่ 30 กันยายน 2559 ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคาร ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัด ปทุมธานี ตั้งแต่เวลา 08.30 – 12.00 น. เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ให้ห่างไกลโรคหัวใจ เพราะการป้องกันการเกิดโรคให้ประสิทธิภาพย่อมดีกว่าการรอให้เป็นโรคแล้วจึงเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ก็ยังเน้นความรู้ในการดูแลตัวเองและครอบครัวในกรณีที่เกิดโรคหัวใจไปแล้วด้วย
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพหัวใจ กิจกรรมการให้คำแนะนำความรู้ด้านโรคหัวใจ ตลอดถึงการป้องกันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ กิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อให้ห่างไกลโรคนี้ และการรับประทานอาหารสุขภาพห่างไกลโรคหัวใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย